ม.ค.-เม.ย. 64 ค่าไฟฟ้าลดเหลือ3.61บาทต่อหน่วย

ผู้ชมทั้งหมด 1,053 

กกพ. เคาะลดค่าเอฟที งวด ม.ค. – เม.ย. 64 ลงอีก 2.89 สตางค์ เหลือ -15.32 สตางค์ ส่งผลให้ค่าไฟถูกลงเหลือหน่วยละ 3.61 บาทต่อหน่วย ขณะที่ปี 64 ประเมินค่าเอฟทีเฉลี่ย เหลือ -15.32 สตางค์ มีโอกาสค่าไฟถูกกว่าปี 63 ขณะที่การใช้เงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรวม 53,168 ล้านบาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 63 กกพ. มีมติให้ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2564 เหลือ -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ลดลงจากการเรียกเก็บงวด ก.ย. – ธ.ค. 2563 ที่ -12.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายค่าไฟฟ้าถูกลงอีก 2.89 สตางค์ต่อหน่วย หรืออยู่ที่ 3.61 บาทต่อหน่วย จากที่ก่อนหน้าค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.63 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้จากการปรับลดค่าไฟฟ้าลดลงในงวด ม.ค. – เม.ย. 2564 นั้นเป็นการอิงกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคา LNG Spot ย้อนหลัง 6 เดือน หรือในช่วงเดือน เม.ย.- มิ.ย. 63 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงมาต่ำส่งผลให้ค่าไฟฟ้าถูกลง

อย่างไรก็ตามหากประเมินค่าเอฟทีตามความเป็นจริงที่จะเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2564 จะต้องเหลือ -19.11 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงในระดับ 3.57 บาทต่อหน่วย แต่เพื่อการบริหารค่าเอฟทีให้มีเสถียรภาพภายใต้ปัจจัยเสี่ยงราคาน้ำมัน และราคา LNG Spot ที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้น สภาวะเศรษฐกิจที่อาจยังไม่ฟื้นตัวในระยะสั้น ปัจจัยเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเอฟปรับเพิ่มขึ้น จึงได้ประมาณการแนวโน้มค่าเอฟทีเฉลี่ยทั้งปี 64 ไว้ที่ระดับ -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้นหากเป็นไปตามการประมาณการก็มีโอกาสที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าในปี 64 เฉลี่ยในระดับต่ำกว่าปี 63

ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องจากช่วงที่ปรับตัวลงมาต่ำสุดในเดือน เม.ย. 63 ขณะที่ราคาน้ำมันในปี 64 คาดว่าจะเฉลี่ยที่ระดับ 41.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคา LNG Spot ก็คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบันเฉลี่ยในระดับ 6-7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

ขณะเดียวกันปัจจุบัน กกพ.มีเงินจากการบริหารเอฟที เหลืออยู่ราว 4,129 ล้านบาท และคาดว่าจะมีเงินจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุนเพื่อการดำเนินงาน (ROIC) ราว 2,000 ล้านบาท สำหรับใช้เป็นเงินบริหารจัดการค่าไฟฟ้าในปี 64 และอาจจะนำส่วนหนึ่งไปใช้ช่วยลดค่าไฟฟ้าประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาที่ยังเหลืออีก 1,371 ล้านบาท จากวงเงินรวมที่ต้องช่วยเหลือ 26,612 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้ประเมินผลกระทบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตลอดปี 2563 กระทบค่าไฟฟ้าประชาชน 31.22 สตางค์ต่อหน่วย จากการใช้เงินอุดหนุนค่าไฟฟ้ารวม 53,168 ล้านบาท คาดปี 2564 รัฐใช้เงินอุดหนุนเพิ่ม เหตุมีปริมาณไฟฟ้าจากโครงการที่เคยลงนามรับซื้อไฟฟ้าไปแล้วเข้าจำนวนมาก ทั้งโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ขยะอุตสหกรรม SPP Hybrid Firm รวมถึงหากมีโรงไฟฟ้าชุมชนเข้าระบบด้วยจะมีผลกระทบค่าเอฟที เพิ่ม เฉลี่ยทั้งปี 2564 ยังคงมีผลกระทบค่าไฟฟ้า 30 สตางค์ต่อหน่วย คาดโครงการที่ได้รับเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จะสิ้นสุดโครงการรุ่นสุดท้ายในปี 2567