ผู้ชมทั้งหมด 1,074
ประเทศไทยกำหนดแนวทางมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของประชาคมโลกในอนาคต รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมไฟฟ้าสีเขียว หรือ Utility Green Tariff – UGT ซึ่งเป็นไฟฟ้าที่ผลิตมาจากโรงไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพราะไม่มีการเผาไหม้ เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ

ทั้งนี้ ในนโยบายภาครัฐมีการกำหนดไฟฟ้าสีเขียวออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบไม่เจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT1) และ ไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT2) โดย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีบทบาทในการกำหนดองค์ประกอบและกำหนดอัตราค่าบริการให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศที่จะมาใช้บริการ และ ไม่เป็นภาระต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าโดยทั่วไป
โดยเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) พร้อมด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ร่วมกันแถลงข่าว การเปิดให้บริการอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff แบบที่ 1 : UGT1) ซึ่งถือเป็นการประกาศความพร้อมการเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียวเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งเป็นหนึ่งในมาตรการจูงใจที่สำคัญรองรับการขยายฐานการลงทุนจากธุรกิจข้ามชาติชั้นนำมายังประเทศไทย

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า อัตรา UGT1 จะบวกส่วนเพิ่มจากค่าไฟฟ้าตามปกติหน่วยละประมาณ 6 สตางค์ต่อหน่วย จากลูกค้ากลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาใช้บริการโดยเฉพาะ ในขณะที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนจะยังใช้ไฟฟ้าในอัตราเฉลี่ยเดิมคือ 4.15 บาทต่อหน่วย ไม่มีการบวกส่วนเพิ่ม จึงไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว
“การเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา หรือ UGT1 ถือเป็นการความสำเร็จก้าวสำคัญในการให้บริการไฟฟ้าสะอาด พร้อมด้วยกระบวนการรับรองแหล่งที่มา ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรฐานและกติกาที่เป็นสากล และได้รับการยอมรับในระดับสากล และยังเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการให้บริการไฟฟ้าและการรับรองไฟฟ้าสะอาดอย่างเต็มรูปแบบ เชื่อว่าจะเปรียบเหมือนการติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการไทย สามารถเข้าไปแข่งขันในเวทีการค้าและการลงทุนในเวทีโลกได้เป็นอย่างดี ขจัดอุปสรรค และตอบโจทย์การค้าการลงทุนระหว่างประเทศ อีกทั้งจูงใจให้ธุรกิจข้ามชาติชั้นนำระดับสากลใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต การค้า และการลงทุนในอนาคต” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว
ผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อรับบริการไฟฟ้าสีเขียว UGT1 ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 โดยผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA ลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์ม ugt.pea.co.th ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่เว็บไซต์ mea.or.th ลูกค้าตรงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เว็บไซต์ egat.co.th ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการไฟฟ้าสีเขียว UGT1 ภายในเดือนเมษายน 2568 ซึ่งมีการจัดเตรียม UGT1 ไว้รองรับความต้องการเป็นปริมาณรวมประมาณ 2,000 ล้านหน่วยต่อปี
ทั้งนี้ จากการเปิดให้บริการที่ผ่านมาได้มีผู้ติดต่อลงทะเบียนเพื่อสมัครใช้บริการแล้วประมาณ 600 ล้านหน่วย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจการค้าระหว่างประเทศที่นำไปใช้ในการจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซฯ ตามนโยบายของบริษัทแม่หรือบริษัทคู่ค้า บริษัทจดทะเบียนชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการการรับรองไฟฟ้าสีเขียวเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนพลังงานสะอาดของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น ธุรกิจการเงินการธนาคาร อุตสาหกรรมการผลิต ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
ดร.พูลพัฒน์ กล่าวว่า ผู้ใช้บริการไฟฟ้าสีเขียว UGT1 จะได้รับเอกสารรับรองไฟฟ้าสะอาดและแหล่งที่มาภายใต้มาตรฐาน I-REC ซึ่งเป็นใบรับรองที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดมาตรฐานหนึ่งในระดับสากล
