กกพ.ไฟเขียว “กัลฟ์ฯ” นำเข้า LNG แตะ 6.37 ล.ตันต่อปี

ผู้ชมทั้งหมด 965 

“กัลฟ์ฯ” คว้าสิทธิ์นำเข้า LNG จาก กกพ. เพิ่มอีก 5.54 ล้านตันต่อปี รวมเป็น 6.37 ล้านตันต่อปี ใช้กับโรงไฟฟ้า IPP ที่ไม่มีสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับ ปตท. ด้าน กกพ. ยันไม่กระทบภาระ Take or Pay

เมื่อเร็วๆนี้ นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานให้เป็นผู้จัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ปริมาณ 0.30 ล้านตันต่อปี เพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมของโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก( SPP) จำนวน 19 โครงการของกลุ่มบริษัทฯ และต่อมา Gulf LNG ได้รับอนุมัติจาก กกพ. ให้จัดหาและนำเข้าก๊าซฯ เพิ่มขึ้นอีก 0.53 ล้านตันต่อปี เพื่อจำหน่ายให้แก่กลุ่มของบริษัท ปตท. จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด (PTT NGD)นั้น

บริษัท ขอแจ้งให้ทราบว่า บริษัท กัลฟ์ แอลเอ็นจี จำกัด (Gulf LNG) ได้ขอรับใบอนุญาตนำเข้าก๊าซธรรมชาติจาก กกพ. เพิ่มขึ้นอีก 5.54 ล้านตัน เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่( IPP) ของกลุ่มบริษัทฯ เอง โดย กกพ. ได้อนุมัติให้ Gulf LNG นำเข้า LNG ในปริมาณดังกล่าวได้ ส่งผลให้ ในปัจจุบัน Gulf LNG มีสิทธิในการจัดหาและนำเข้า LNG ในปริมาณรวมทั้งสิ้น 6.37 ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้ บริษัท เชื่อว่าการที่บริษัทฯ ได้เป็นผู้นำเข้าก๊าซฯจะเป็นการตอบสนองนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ และจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ที่มีความต้องการใช้ก๊าซ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศโดยรวม

นอกจากนี้ในอนาคต บริษัทฯ ยังสามารถนำLNG ของกลุ่มมาใช้บริการกับท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal)ของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการของบริษัทฯ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) อีกด้วย

ด้าน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)และในฐานะโฆษก กกพ. ระบุว่า การออกใบอนุญาตให้ Gulf LNG จัดหาและนำเข้า LNG เพิ่มเติมอีก 5.54 ล้านตัน จากเดิมเคยขอไว้ 3 แสนตันต่อปี จะไม่กระทบต่อการเกิดภาระ Take or Pay ที่ ปตท.มีสัญญาเดิมกับคู่ค้า เนื่องจากเป็นการนำเข้ามาใช้สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าของเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ ( IPP) บางแห่งที่ยังไม่มีสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับทางบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)