“กทท.” ลงนามร่วมทุน “กิจการร่วมค้า GPC” วันที่ 25 พ.ย.นี้ ลุยสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3

ผู้ชมทั้งหมด 840 

“นายกฯ” เตรียมเป็นประธาน ลงนามร่วมลงทุนโครงการลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ในวันที่ 25 พ.ย.นี้

โครงการลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ทลฉ.เฟส3) กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม หลังดำเนินการประกวดราคามาตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2562 แต่เพิ่งผ่านการอนุมัติผลการคัดเลือกโครงการฯ จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 หลังจากสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เห็นชอบร่างสัญญาร่วมทุนโครงการฯ กับกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด อีกทั้งผ่านการพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)เรียบร้อยแล้ว

ล่าสุด วันที่ 25 พ.ย.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) และบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ณ ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ

โดยในพิธี ประกอบด้วย เรือโท ยุทธนาโมกขาว รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทน ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย และนายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ และนายหวัง ไห่กวง กรรมการบริษัท บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด

สำหรับการลงนามในสัญญา กิจการร่วมค้า GPC จะต้องเตรียมหลักประกันสัญญามูลค่า 4,000 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมการทำสัญญาอีก 120 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังต้องจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ตามกฎหมายกำหนด ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินจดทะเบียนราว 12,000 ล้านบาท

โดยงานด้านโครงสร้างพื้นฐานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ กทท.จะดำเนินการเอง แบ่งออกเป็น 4 งาน ได้แก่ 

1. งานก่อสร้างทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่น มีกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 21,320 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงาน

2. งานก่อสร้างถนน สะพาน ระบบสาธารณูปโภค และท่าเทียบเรือชายฝั่ง กรอบวงเงินลงทุนราว 7,500 ล้านบาทคาดว่าจะเริ่มประกวดราคาได้ในเร็วๆ นี้

3. งานก่อสร้างระบบรถไฟ และ 4. งานจัดหา ประกอบและติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ 

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการถมทะเล และการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานของฝั่งท่าเทียบเรือ F จะต้องส่งมอบให้กิจการร่วมค้า GPC ในปี 2566 เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างท่าเรือ อาคารสำนักงาน และติดตั้งเครื่องจักรต่อไป โดยการพัฒนาท่าเทียบเรือ F กำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปลายปี 2568 ซึ่งท่าเทียบเรือ F จะสามารถรองรับตู้สินค้าได้ 4 ล้าน ที.อี.ยู. แบ่งเป็น ท่าเทียบเรือ F1 จำนวน 2 ล้าน ที.อี.ยู. และท่าเทียบเรือ F2 จำนวน 2 ล้าน ที.อี.ยู.

โดย เมื่อความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเทียบเรือ F หากใกล้เต็มขีดความสามารถแล้ว กทท. จึงจะดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ E ต่อไป ซึ่งคาดว่า ประมาณ 10 ปีข้างหน้า หรือ จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2578 ซึ่งท่าเรือ E นั้นสามารถรองรับตู้สินค้าได้ราว 3 ล้าน ที.อี.ยู. และหากรวมขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะสามารถรองรับตู้สินค้าได้ราว 7 ล้าน ที.อี.ยู. ซึ่งหากรวมกับท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 นั้นจะส่งผลให้มีความสามารถในการรองรับตู้สินค้ารวมกันเป็น 18 ล้าน ที.อี.ยู.

อนึ่ง โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น กทท. ลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท และเอกชนลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท ในส่วนของเอกชนแบ่งเป็นเงินลงทุนในท่าเทียบเรือ F ประมาณ 30,000 ล้านบาท ท่าเทียบเรือ E ประมาณ 25,000 ล้านบาทและท่าเทียบเรือ E0 ประมาณ 5,000 ล้านบาท

โครงการในระยะแรก ที่กิจการร่วมค้า GPC ชนะการประกวดราคานั้นเป็นการลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือ F1 – F2 ประมาณ 30,000 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี ซึ่งจะส่งผลให้รัฐได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาราว 87,471 ล้านบาท โดยเมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) จะอยู่ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อที.อี.ยู. และกิจการร่วมค้า GPC จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเยียวยาความเสียหายฯ ในอัตรา 5,000 บาท/ไร่/ปี นับตั้งแต่เริ่มประกอบการ