กทพ. เร่งดันสร้างทางด่วนฉลองรัช-นครนายก-สระบุรีเสนอบอร์ด กทพ. พรุ่งนี้

ผู้ชมทั้งหมด 1,126 

กทพ. เร่งดันโครงการทางด่วนฉลองรัช – นครนายก – สระบุรี เตรียมเสนอบอร์ดกทพ. พรุ่งนี้ ก่อสร้างระยะแรก ฉลองรัช-ลำลูกกาคลอง 10 ระยะทาง 17 กม. กรอบวงเงินลงทุน 1.9 หมื่นล้าน คาดเสนอครม. ส.ค. 65

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี (ทางด่วน) ว่า โครงการฯ ผ่านการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อม (EIA) และทำการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการเสร็จแล้ว และได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนเรียบร้อยไม่ติดปัญหาอะไร ทุกฝ่ายพร้อมสนับสนุนให้พัฒนาโครงการนี้ โดยในขณะนี้กทพ.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด กทพ.) อนุมัติในวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 และคาดว่าจะสามารถนำเสนอโครงการให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนพัฒนาโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี นั้นแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ระยะ โดยกทพ.เร่งจะดำเนินโครงการในระยะที่ 1 ก่อนเริ่มจากจุดเชื่อมต่อจากทางพิเศษฉลองรัช (อาจณรงค์-รามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) บริเวณด่านจตุโชติมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตัดถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ และถนนลำลูกกา (ช่วงลำลูกกาคลอง 10) มีระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ซึ่งจะเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ของกรมทางหลวง (ทล.)

ทั้งนี้การลงทุนในระยะแรกนั้นมีกรอบวงเงินลงทุนราว 1.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินค่าก่อสร้าง 1.74 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนที่ กทพ.จะลงทุนเอง และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.6 พันล้านบาท ซึ่งกทพ.จะต้องขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ส่วนแผนพัฒนาในระยะต่อไป กทพ. จะดูความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการลงทุนก่อนถึงจะตัดสินใจว่ามีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนหรือไม่อย่างไร

อย่างไรก็ตามโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี หากได้รับการอนุมัติจาก ครม.ในเดือนสิงหาคม 2565 แล้วก็คาดว่าจะสามารถเริ่มขั้นตอนการเปิดประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ในช่วงกลางปี 2566 หลังจากนั้นจะเริ่มงานก่อสร้างโครงการในปี 2567 และเปิดให้บริการในปี 2569 ซึ่งล่าช้ากว่าแผนเดิมที่ตั้งเป้าเปิดให้บริการในปี 2568