กบง.หันกลับขายดีเซล 3 เกรด(บี7,บี10,บี20) เริ่ม 1 พ.ย.64 ไฟเขียวกู้เงิน 2 หมื่นลบ.อุ้มดีเซลไม่เกิน 30 บ.ต่อลิตร

ผู้ชมทั้งหมด 604 

มติ กบง. ให้จำหน่ายน้ำมันดีเซลในประเทศไทย กลับไปเป็น  3 เกรดตามเดิม คือ บี7,บี10,บี20 เริ่ม 1 พ.ย.นี้ พร้อมนำเงินกองทุนน้ำมันฯ 9 พันล้านบาท รวมแผนกู้เงินอีก 2 หมื่นล้านบาท อุ้มราคาดีเซลทุกเกรด ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ลดภาระค่าครองชีพบรรเทากระทบเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด

การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันนี้(20 ต.ค.2564) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้หารือวาระสำคัญในการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ราคาขายปลีกน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เพื่อวางมาตรการดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชนต่อเนื่องในเดือนพ.ย.นี้

นายสุพัฒนพงษ์ ระบุว่า กบง.มีมติให้การจำหน่ายน้ำมันดีเซลในประเทศไทย กลับไปเป็น 3 เกรด เหมือนเดิม คือ น้ำมันดีเซล บี7, บี10 และบี 20 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป จากเดือนตุลาคม 2564 ได้ปรับลดการจำหน่ายเหลือเกรดเดียว คือ ดีเซล บี6

รวมถึง กบง. ยังได้มีมติให้ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ทั้ง 3 เกรดดังกล่าว ไว้ในระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยให้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ล่าสุดคาดว่าจะเหลือเงินสุทธิอยู่ที่ประมาณ 9,000 ล้านบาท และหากไม่พอ กองทุนน้ำมันฯ สามารถใช้สิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 พิจารณากู้เงินได้อีกไม่เกิน 20,000 ล้านบาท อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการหาช่องทางอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อดูแลผลกระทบดังกล่าวและจะประสานงานกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิดต่อไป

“การตรึงราคาน้ำมันดีเซลทั้ง 3 เกรด จะประคองสถานการณ์ได้ประมาณ 3-4 เดือน หากราคาน้ำมันดิบไม่เกินระดับ 87.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และคาดว่าจากนั้นราคาน้ำมันดิบจะเริ่มอ่อนตัวลงหลังผ่านพ้นฤดูหนาว”

นอกจากนี้ ในส่วนของก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ก็ยังตรึงราคาถังขนาด 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 318 บาท ต่อเนื่องไปจนถึง มกราคม 2565 ตลอดจนรัฐบาลมีความพยายามที่จะตรึงราคาค่าไฟฟ้า แม้ว่าราคาก๊าซธรรมชาติตลาดจร(Spot LNG) ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า จะมีราคาสูงขึ้นอยู่ที่ 35-38 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และปัจจุบัน ไทยต้องนำเข้า LNG แล้ว 20% ซึ่งในอนาคตมีโอกาสเพิ่มขึ้นถึง 30% ดังนั้นการประหยัดพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแหล่งก๊าซฯ ที่เดิมผลิตได้จากในประเทศ ได้ถูกใช้งานมาเป็นเวลากว่า 30ปี ก็เริ่มร่อยหรอลงแล้ว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะดูแลผลกระทบจากราคาพลังงานในภาพรวมทั้ง น้ำมัน ก๊าซฯ และไฟฟ้า อย่างเต็มที่ เพื่อลดความกังวลของหลายภาคส่วนที่เกรงว่า ราคาพลังงานจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คลี่คลายลง

นอกจากนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมายังได้เพิ่มเติมมาตรการช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มคนตัวเล็ก เช่น ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มวงเงินให้จาก 200 บาท เป็น 500 บาทต่อเดือน โครงการคนละครึ่ง จะเพิ่มเงินจาก 1,500 บาท เป็น 3,000 บาท เริ่มเดือนพฤศจิกายนนี้ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ให้เงิน 3,000 บาทต่อคน และโครงการสนับสนุนSME ที่ขึ้นทะเบียน ม.33 รัฐบาลยังให้การช่วยเหลืออีก 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ รัฐบาลให้เงินเข้าไปดูแลประมาณเกือบ แสนล้านบาท  

ส่วนข้อเสนอของกลุ่มรถบรรทุกที่ต้องการให้รัฐบาลตรึงราคาดีเซล ไม่เกิน 25 บาทต่อลิตรนั้น จากการหารือกันในเบื้องต้น พบว่าเป็นเจตนาที่ดีของผู้ประกอบการที่กังวลว่าต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะส่งผ่านไปยังต้นทุนสินค้า แต่จากการพิจารณาของภาครัฐแล้ว พบว่า การตรึงราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรน่าจะเป็นระดับราคาที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯ เพื่อนำมาดูแลราคาดีเซลนั้น ทางกระทรวงพลังงานจะต้องประสานกระทรวงการคลัง ให้บรรจุเงินกู้เข้าไปรวมอยู่ในแผนก่อหนี้สาธารณะตามขั้นตอนก่อน ซึ่งจะดำเนินการร่วมกันต่อไป

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การตรึงราคาดีเซล ทั้ง 3 เกรดไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร หากคำนวณจากระดับราคาน้ำมันดิบ คาดการณ์เพดานราคาสูงสุดที่ 87.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือ ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซล อยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินไหลออกเดือนละ 5,000 ล้านบาทต่อเดือน