กพช. รื้อเกณฑ์เปิดเสรีกิจการก๊าซฯ ระยะที่2

ผู้ชมทั้งหมด 839 

กพช.รื้อเกณฑ์เปิดเสรีกิจการก๊าซฯ ระยะที่2 เปิดโอกาสให้ ชิปเปอร์รายใหม่ นำเข้า LNG คำนวณในราคา Pool Gas หวังสร้างการแข่งขันในอนาคต พร้อมเกาะติดค่าไฟฟ้าFt งวดที่ 2 ของปีนี้ (พ.ค.-ส.ค.) กลับเป็นราคาเดียว ลุ้นจ่ายถูกลง หลังราคาก๊าซฯปรับลดลง

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2566 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ (13 ก.พ.2566) มีมติให้ทบทวนโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติเสรี ระยะที่ 2  ที่เห็นชอบ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 โดยปรับเปลี่ยนเป็นให้ 8 ชิปเปอร์ สามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ตามเกณฑ์ราคากำหนดของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะออกเกณฑ์ ราคา Benchmark ใหม่ ให้เหมาะสม ต้นทุนต่ำ เพื่อประโยชน์ของการผลิตกระแสไฟฟ้า  โดยให้นำราคาใหม่ที่นำเข้ามาผสมในราคาตลาด POOL ได้ โดยราคา Benchmark จะต้องทันสถานการณ์ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ชิปเปอร์รายใหม่ๆ สามารถนำเข้าก๊าซฯได้ นอกเหนือจาก ปตท.

ขณะที่การดูแลตลาด POOL จะมีการจัดตั้งส่วนดูแล หรือ POOL MANAGER ที่ เบื้องต้น ปตท. เป็นผู้ดูแล แต่จะมีการแยกบัญชีออกมาชัดเจนแล้ว แต่ในอนาคต  กกพ. เสนอว่า  POOL MANAGER จะเป็นองค์กรอิสระมาดูแล ทั้งในส่วนการซื้อหรือนำเข้า

นอกจากนี้ 8 ชิปเปอร์ ยังสามารถนำก๊าซฯไปจำหน่ายได้ทั้ง ภาคการผลิตไฟฟ้า และ อุตสาหกรรม ได้ด้วย ก็จะทำให้เกิดการแข่งขั้นในปลายทาง โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตก็จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพให้เกิด HEAT RATE ที่แข่งขันได้ดีที่สุด ในขณะที่ โรงงานอุตสาหกรรมก็จะได้ ต้นทุนก๊าซที่คาดว่าจะต่ำลง

“การเปิดเสรีก๊าซฯ ระยะที่2 ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีชิปเอร์รายใหม่ๆ นำเข้าก๊าซฯได้ เพราะสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นมากจากปัญหาสงคราม ยูเครน-รัสเซีย ทำให้ราคานำเข้าตลาดจร (SPOT) จะสูงกว่าราคา POOL GAS จึงต้องปรับเกณฑ์ใหม่เพื่อให้เกิดการแข่งขันในอนาคต”

สำหรับรายละเอียดหลักการข้อเสนอการทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 โดยมีโครงสร้างกิจการ ดังนี้

1. ธุรกิจต้นน้ำ ให้ PTT Shipper บริหารจัดการ Old Supply และ Shipper ที่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ สามารถจัดหาและนำเข้า LNG ได้ โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแล และกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการจัดหา LNG ตามปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาระ Take or Pay

2. ธุรกิจกลางน้ำ ให้ Shipper ทุกราย ในกลุ่ม Regulated Market ขายก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ที่จัดหาได้ให้กับ Pool Manager เพื่อนำไปรวมเป็น Pool Gas ของประเทศ และซื้อก๊าซธรรมชาติออกจาก Pool Gas ตามปริมาณที่จัดหาและนำเข้า Pool Gas โดยมอบหมายให้ ปตท. เป็นผู้บริหารจัดการ Pool Gas ของประเทศ (Pool Manager) และให้ กกพ. กำกับดูแลการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับ Pool Manager รวมทั้ง ให้ดำเนินการจัดตั้ง Transmission System Operator (TSO) เป็นนิติบุคคลใหม่ให้แล้วเสร็จภายในปี 2566

3. ธุรกิจปลายน้ำ ให้ Shipper ในกลุ่ม Regulated Market ซื้อก๊าซธรรมชาติจาก Pool Manager ในราคา Pool Gas ตามปริมาณก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ที่ Shipper นั้นๆ จัดหาและนำเข้า เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ และ Shipper ในกลุ่ม Partially Regulated Market ให้ขาย LNG ให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติได้โดยตรง

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ สนพ. และ กกพ. ร่วมกันพิจารณาเพิ่มเติมแนวทางบริหารและกำกับดูแลโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติที่มีการทบทวนครั้งนี้ ให้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องทำให้เกิดการแข่งขันจากผู้ประกอบการหลายราย และทำให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทุกกลุ่มได้ประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันดังกล่าว

ส่วนแนวโน้มการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) งวดที่ 2 ของปีนี้ (พ.ค.-ส.ค.2566) จะต้องกลับไปเป็นอัตราเดียว หลังจากงวดแรกของปี2566 (ม.ค.-เม.ย. 2566) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาอัตราค่าไฟฟ้า แบ่งเป็น 2 อัตรา คือ กลุ่มภาคครัวเรือน คิดค่าไฟฟ้าที่หน่วยละ 4.72​ บาทต่อหน่วย และกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น เช่น กลุ่มธุรกิจ คิดอัตราหน่วยละ 5.33 บาทต่อหน่วย เนื่องจากสิ้นสุดมาตรการบรรเทาผลกระทบค่าไฟฟ้าให้กับภาคประชาชน ประกอบกับ ราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG Spot) ปรับลดลงมากเหลือ 15-16 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากเดิมขึ้นไปสูงสุดระดับ 40-47 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เมื่อช่วงปลายปี 2565 ซึ่งก็จะส่งผลให้ความต้องการใช้ดีเซลและน้ำมันเตาเพื่อผลิตไฟฟ้าทดแทนลดลงในปีนี้ และหันกลับไปใช้ LNG ที่มีราคาถูกลงมาผลิตไฟฟ้าได้คุ้มค่ากว่า โดยกระทรวงพลังงาน จะประสานงานกับ กกพ.ในการพิจารณาต้นทุนค่าไฟฟ้าในงวดทันไปให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม