ผู้ชมทั้งหมด 1,541
กฟผ. มุ่งผลักดันพลังงานหมุนเวียน พลังงานแสงอาทิตย์ น้ำ แบตเตอรี่ 24 ชั่วโมง เสริมความแข็งแรงระบบส่งเชื่อมอาเซียน ในงาน ASEAN Energy Business Forum 2021 (AEBF2021)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษในหัวข้อ “ASEAN Utilities and Age of Transformation” ในการประชุมด้านพลังงานและการแสดงนิทรรศการพลังงานที่สำคัญแห่งอาเซียน ASEAN Energy Business Forum 2021 (AEBF2021) ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์พลังงานอาเซียน (ASEAN Centre for Energy : ACE) ระหว่างวันที่ 14 – 16 กันยายน 2564
นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า หลังจากประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Hydro Floating Solar Hybrid) กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ภายในปี 2564 และภายใน 10 ปีข้างหน้า กฟผ. ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการอีก 15 โครงการ ในพื้นที่เขื่อน 8 แห่ง ซึ่งมีกำลังผลิตรวม 2,680 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมาย Carbon Neutrality ของโลก กฟผ. เตรียมพัฒนาพลังงานหมุนเวียน 24 ชั่วโมงในรูปแบบ Solar-Hydro-Battery Energy Storage (SHB) ที่ได้นำ Battery มาเสริมความมั่นคงด้านพลังงานหมุนเวียน ด้วยราคาของแบตเตอรี่และแผงโซลาร์เซลล์ที่ลดลงในอนาคตจะส่งผลดีต่อต้นทุนโครงการ
แม้ว่าการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนจะทำให้ระบบไฟฟ้ามีความซับซ้อน เนื่องจากความไม่แน่นอนของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน แต่ก็สร้างโอกาสในการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) ซึ่งจะช่วยรองรับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนและช่วยยกระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดย กฟผ. มีแผนพัฒนาศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน, การปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น, สถานีไฟฟ้าแรงสูงดิจิทัล, ศูนย์ควบคุมสั่งการตอบสนองด้านโหลด, ระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ และโรงไฟฟ้าเสมือน เพื่อให้พลังงานหมุนเวียนมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การสร้างการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าข้ามพรมแดน เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการนำพลังงานหมุนเวียนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบไฟฟ้า และเป็นภารกิจลำดับต้น ๆ ของ กฟผ. ในช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้า เพื่อจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค และเพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาดพลังงานหมุนเวียน กฟผ. ได้นำกลไกตลาดพลังงานสีเขียวมาใช้ ซึ่งรู้จักในชื่อว่า ตลาดซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ที่จะช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งเพื่อดึงดูดการลงทุนจากบริษัทระดับโลก
“ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน กฟผ. ในฐานะองค์การผลิตไฟฟ้าระดับประเทศมีกลยุทธ์หลากหลายมิติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงนโยบายและกลไกตลาด เรายืนยันว่าการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจะเป็นไปอย่างราบรื่น และอนาคตของระบบไฟฟ้าจะมีความมั่นคงยิ่งขึ้นดังวิสัยทัศน์ของ กฟผ. ที่ว่านวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” นายบุญญนิตย์ กล่าว