กฟผ.ปักธงรบ กดปุ่มสตาร์ท บ.อินโนพาวเวอร์ ม.ค. 65 ลุยธุรกิจนวัตกรรมพลังงานเต็มสูบ

ผู้ชมทั้งหมด 1,483 

ปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการสนับสนุนการทำงานอย่างเดียว แต่การพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยียังเป็นการสนับสนุนในการดำเนินธุรกิจให้เกิดความคล่องตัวด้วย หน่วยงานภาครัฐ อย่างรัฐวิสาหกิจต่างๆ ก็ได้ปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยจัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาลงทุนด้านการพัฒนานวัตกรรมโดยเฉพาะ เพื่อให้การลงทุนมีความคล่องตัว และตอบโจทย์การลงทุนในยุคดิจิทัล

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ได้จัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นมา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการลงทุน โดยได้ร่วมกับบริษัทในเครืออย่าง บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO จัดตั้ง บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด (INNOPOWER COMPANY LIMITED) เพื่อดำเนินธุรกิจนวัตกรรมพลังงานและเทคโนโลยีแห่งอนาคต (New S-Curve) โดยการสร้างตลาดและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้านพลังงาน เพื่อรับมือกับ Energy Disruption ที่เกิดขึ้น และมุ่งต่อยอดงานวิจัยด้านนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ของกลุ่มกฟผ.สู่เชิงพาณิชย์

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการกฟผ. กล่าวว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้กฟผ.จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 โดย กฟผ. ถือหุ้นร้อยละ 40 ราช กรุ๊ป ร้อยละ 30 และเอ็กโก กรุ๊ป ร้อยละ 30 นั้น บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด จะเริ่มดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2565

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดตั้งบริษัทครั้งนี้นอกจากจะเพิ่มศักยภาพทางการลงทุนใหม่ๆ แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาและต่อยอดเชิงพาณิชย์ในงานวิจัยและนวัตกรรม ของ กฟผ. และกลุ่ม กฟผ. รวมถึงลงทุนในธุรกิจพลังงานในอนาคต (Future Energy) และ Startup ในอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งในที่สุดแล้ว จะส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม และผลักดันไปสู่ประเทศแห่งนวัตกรรม (Innovation Nation) ที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบาย Thailand 4.0

อนึ่งบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด มีวงเงินลงทุนรวม 2,960 ล้านบาท โดยเป็นเงินทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 150 ล้านบาท และจะทยอยลงทุนเพิ่มเติมจนครบจำนวนในระยะเวลา 5 ปี จะดำเนินการผ่าน 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ หน่วยงานสนับสนุนแนวคิดทางธุรกิจใหม่ (Collaborator) หน่วยงานเพื่อการบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator) หน่วยงานเพื่อเร่งการเติบโตธุรกิจ (Accelerator) และหน่วยงาน Corporate Venture Capital (CVC) ซึ่งจะช่วยให้บริษัทในกลุ่ม กฟผ. สามารถรับมือและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมพลังงานได้อย่างรวดเร็ว