ผู้ชมทั้งหมด 1,437
“พลังงานหมุนเวียน” กำลังกลายเป็นเชื้อเพลิงผลิต “กระแสไฟฟ้า” ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญมากขึ้นในอนาคต เพราะถูกจัดว่าเป็น “พลังงานสะอาด” ที่สอดรับกับเทรนด์ของโลก ในการมุ่งสู่เป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อแก้ไขปัญหา “สภาวะโลกร้อน” และยังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทย บรรลุเป้าหมายในเวทีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ที่รัฐบาลไทย ได้ร่วมประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในปีค.ศ. 2065 ซึ่งถือเป็นกติกาสากลที่ต้องดำเนินการ เพื่อไม่ให้ไทยถูกกีดกันทางด้านเศรษฐกิจในอนาคต
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2022/10/S__143425732-1024x768.jpg)
ดังนั้น แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (PDP 2022) ที่ภาครัฐ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนฯนั้น ได้ประกาศทิศทางปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มากกว่า 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ ขณะที่ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ช่วงปี 2565-2573 ตามแผน PDP 2018 Rev.1 (ฉบับปัจจุบัน) กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 5,203 เมกะวัตต์ และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ช่วงปี 2567-2573 ด้วยทิศทางของนโยบายดังกล่าว เห็นได้ชัดเจนว่า นับจากนี้ไประบบผลิตไฟฟ้าของไทยจะมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบมากขึ้น แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียน ที่ยังไม่เสถียร จึงอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลักได้
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2022/10/1282601-1024x683.jpg)
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนที่จะป้อนเข้าสู่ระบบไฟฟ้ามากขึ้น โดยการพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้มีความทันสมัย ยืดหยุ่น (Grid Modernization) ด้วยการลงทุนและศึกษาระบบกักเก็บพลังงาน เข้ามาบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียน ช่วยลดความผันผวนและสร้างความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม
กฟผ. จึงได้พัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) ที่เชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้า หรือ Grid Scale นำร่องใช้งานที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี กำลังผลิตไฟฟ้า 21 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) และที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิตไฟฟ้า 16 MWh รวมทั้งสิ้น 37 MWh ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสามารถตอบสนองต่อระบบไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วเพราะจ่ายกำลังไฟฟ้าได้ภายในเวลาไม่เกิน 200 มิลลิวินาที จึงช่วยรักษาเสถียรภาพในระบบไฟฟ้า
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2022/10/S__143425725-1024x768.jpg)
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) ณ สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี และโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2565 โดยระบุว่า กฟผ. เลือกนำร่องติดตั้ง BESS ในพื้นที่ทั้งสองแห่งนี้ เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่เชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจำนวนมากจึงมีความผันผวนค่อนข้างสูง
ปัจจุบัน มีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนป้อนเข้าสู่ระบบในพื้นที่ดังกล่าว ประมาณ 251 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พลังงานลม 180 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฯ อีก 73 เมกะวัตต์ ซึ่งในอนาคตจะกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น ตามนโยบายส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐ ประกอบกับพื้นที่ภาคอีสาน เป็นพื้นที่ แดดดี มีลมแรง จึงเหมาะที่จะมีการลงทุนติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจาก โซลาร์ฯ และลม
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2022/10/S__143425729-1024x768.jpg)
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2022/10/S__143425733-1-1024x768.jpg)
อย่างไรก็ตาม การติดตั้ง BESS จะทำหน้าที่กักเก็บพลังงานในช่วงที่ระบบมีความต้องการไฟฟ้าต่ำ (Off Peak) และจ่ายไฟฟ้าคืนสู่ระบบเพื่อชดเชยกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวนในช่วงบ่าย ลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในช่วงหัวค่ำ และลดความหนาแน่นของสายส่งกำลังไฟฟ้า โดยแบตเตอรี่ที่นำมาใช้ใน BESS เป็นแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ที่สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากในพื้นที่จำกัด อีกทั้งสามารถจ่ายไฟและชาร์จไฟได้เร็วโดยออกแบบให้มีอายุการใช้งานได้นานถึง 15 ปี
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2022/10/S__143425730-1024x768.jpg)
“ปัจจุบัน ต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ยังสูงอยู่ กฟผ.จึงลงทุนศึกษาในลักษณะของโครงการขนาดเล็ก ซึ่งทั่วโลก คาดการณ์ว่าใน 5 ปีข้างหน้าแนวโน้มแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน จะถูกลงเหลืออยู่ที่ประมาณ 200 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 400-450 kWh ซึ่งจริงๆแล้วราคาแบตเตอรี่จะถูกลงกว่านี้ แต่เนื่องจากเกิดปัญหาสงคราม และความต้องการใช้รถEV ที่เพิ่มขึ้นในยุโรป ทำให้เกิดการแย่งชิงแร่ลิเทียมฯ และผลักดันให้ราคาขยับขึ้นจากที่ลดลงไปก่อนหน้านี้ ฉะนั้น กฟผ.จะลงทุนติดตั้ง BESS ในโครงการที่มีขนาดใหญ่ก็ต่อเมื่อราคาแบตเตอรี่ถูกลง หรือ อยู่ในระดับที่จะเอื้อให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้กับพลังงาน conventional”
ทั้งนี้ กฟผ.มีแผนลงทุนระบบ BESS ให้ครบ 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 โดยจะเป็นการติดตั้งที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง 3,000 เมกะวัตต์ และติดตั้งที่โครงการ Floating Solar อีก 2,000 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ กฟผ. ยังนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ แห่งที่ 3 ของประเทศ และเป็นระบบกักเก็บพลังงานด้วยพลังน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ มีกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2022/10/1282615.jpg)
นายประเสริฐศักดิ์ กล่าวว่าโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เป็นระบบไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีศักยภาพในการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว โดยจะนำพลังงานไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยสูบน้ำจากเขื่อนด้านล่างขึ้นไปกักเก็บไว้ยังอ่างพักน้ำตอนบน เมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงหรือไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนไม่เสถียรก็สามารถปล่อยน้ำผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากลับลงมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทันที
“โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ มีส่วนสำคัญในการช่วงลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(Peak)ของประเทศ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปัจจุบัน หากจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 40 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู มาผลิตไฟฟ้าจะคิดเป็นต้นทุนค่าไฟอยู่ที่ประมาณ 10 บาทต่อหน่วย แต่หากผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟพลังน้ำแบบสูบกลับ จะมีต้นทุนค่าไฟอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อหน่อย ก็จะช่วยประเทศประหยัดต้นทุนผลิตไฟฟ้า ประมาณกว่า 500 ล้านบาทต่อปี”
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2022/10/S__143425723-1-1024x768.jpg)
ปัจจุบัน ประเทศไทย มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับทั้งสิ้น 3 แห่ง รวมกำลังผลิต 1,531 เมกะวัตต์ (MW) ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล จ.ตาก กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์ (แห่งที่ 1) , เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี กำลังผลิต 360 เมกะวัตต์ (แห่งที่ 2) และโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา กำลังผลิต 1,000 (แห่งที่ 3)
ทั้งนี้ ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยประเทศผลิตไฟฟ้าด้วยต้นทุนต่ำ และเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้า กฟผ. จึงมีแผนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เพิ่มเติม อีก 3 แห่ง กำลังการผลิตรวม 2,501 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 ประกอบด้วย เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ กำลังการผลิต 801 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา คาดว่า จะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปี 2578 และอยู่ระหว่างการศึกษาที่เขื่อนวชิราลงกรณ์ กำลังการผลิต 900 เมกะวัตต์ รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ อีก 800 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างหาพื้นที่โครงการที่เหมาะสม
![](https://www.ten-news.com/wp-content/uploads/2022/10/1282614-1024x717.jpg)
การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ที่เชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้า และการเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ จะช่วยเสริมศักยภาพโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้ทันสมัย มีความยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต และยังผลักดันให้ กฟผ. บรรลุเป้าหมายมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศอีกด้วย