กฟผ.วางทุนเอกลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร-ติดตั้งโซล่าร์เซลล์ลอยน้ำคืบ66%

ผู้ชมทั้งหมด 879 

กฟผ. วางทุ่นเอกโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธรแบบไฮบริด ขนาด 45 เมกะวัตต์ ใหญ่สุดในไทยอย่างเป็นทางการ โดยการติดตั้งมีความคืบหน้ากว่า 66% พร้อมจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์กลางปี 64 เล็งดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ของจังหวัดอุบลฯ

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยนำพลังงานหมุนเวียนหลากหลายรูปแบบมาผสานกัน เพื่อแก้ไขข้อจำกัดในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้เต็มศักยภาพและมีเสถียรภาพมากที่สุด จึงได้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธรแบบไฮบริด ขนาด 45 เมกะวัตต์รวมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน หรือเรียกว่าระบบไฮบริด

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 63 ที่ผ่านมากฟผ.ได้ดำเนินการวางทุ่นเอกโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธรแบบไฮบริด อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) โดยตามแผน PDP2018 กำหนดให้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ลอยน้ำกำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ในพื้นที่ 9 เขื่อนของ กฟผ. ทั้งนี้ ปัจจุบันมีความคืบหน้างานก่อสร้างของโครงการฯ อยู่ที่ร้อยละ 66 โดยคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ช่วงกลางปี 2564

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่านับเป็นก้าวสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีโครงการนำร่องด้านพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของประเทศ ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธรแห่งนี้ จะเป็นโครงการต้นแบบในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ที่นอกจากสร้างเสถียรภาพของพลังงานหมุนเวียนให้มั่นคงด้วยระบบพลังงานแบบผสมผสานแล้ว ยังส่งเสริมให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นแหล่งความรู้ด้านพลังงานที่สำคัญแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ตลอดจนพัฒนาโครงการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด ทำให้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน