ผู้ชมทั้งหมด 553
กฟผ. เผยสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าเหลือเพียง 34% แม้มีภารกิจสำคัญในการรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ยัน กฟผ. ไม่มีกำไรจากการรับซื้อและขายไฟฟ้าจากเอกชนซึ่งถูกกำกับดูแลโดย กกพ. พร้อมแจงปี 64 กฟผ. มีกำไรสุทธิเพียง 2.5 หมื่นล้านบาท และกำไร 57% นำส่งเป็นเงินรายได้เข้ารัฐเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนบางฉบับนำเสนอข่าวระบุว่า กฟผ. เป็นผู้ผูกขาดอุตสาหกรรมไฟฟ้าไทย โดยมีกำไรจากการขายไฟฟ้ามากกว่าผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 12 รายรวมกันนั้น กฟผ. ขอชี้แจงว่าข้อความดังกล่าวไม่มีมูลความจริง เนื่องจากกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ณ เดือนตุลาคม 2565 มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 16,920.32 เมกะวัตต์ (MW) คิดเป็น 34.44% ของกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาในระบบไฟฟ้า
อีกทั้งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ในปี 2580 กฟผ. จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาเหลือเพียง 18,614 MW คิดเป็น 24% แต่อย่างไรก็ตาม กฟผ. มีภารกิจหลักสำคัญที่สุดคือ การดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ดังเช่นที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ทำหน้าที่สำคัญในการนำระบบไฟฟ้ากลับคืนสู่ภาวะปกติ (Blackout Restoration Plan) ดังเช่นเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในปี 2561 จากการหยุดเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าหงสา เป็นต้น
รวมถึงยังเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจพลังงานสำคัญเร่งด่วนเพื่อดูแลประชาชนให้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ มั่นคง อาทิ ช่วงวิกฤตพลังงานของประเทศใน 2 ปีนี้ กฟผ. ได้ปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า กฟผ. มาใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทน LNG ที่มีราคาสูง การนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้า และเลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 เนื่องจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะใช้ถ่านหินในประเทศซึ่งเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกเพื่อช่วยพยุงค่าไฟฟ้า ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน
ส่วนระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. ยังจำเป็นต้องดูแลเพื่อให้เกิดความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าได้ทั่วประเทศ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของศูนย์ควบคุมระบบกำลังผลิตไฟฟ้าแห่งชาติซึ่งต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงานปี 2550 เพื่อให้เกิดการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กฟผ. เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามนโยบายที่ภาครัฐกำหนด โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนและขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
ส่วนประเด็นที่ระบุว่า กฟผ. มีกำไรจากการขายไฟฟ้ามากกว่าผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 12 รายรวมกัน เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยกำไรจากการดำเนินงานประมาณ 59,000 ล้านบาท ที่สื่อมวลชนหยิบยกมา เป็นกำไรขั้นต้นที่บวกรวมการขายสินค้าและบริการอื่นและยังหักต้นทุนไม่ครบ โดยในปี 2564 กฟผ. มีกำไรสุทธิเพียง 25,771 ล้านบาท และนำส่งเงินรายได้เข้ารัฐจำนวน 17,426 ล้านบาท หรือคิดเป็น 57% ของกำไร สำหรับกำไรส่วนที่เหลือนำไปลงทุนในระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงทางพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล
ส่วนกำไรสะสมของ กฟผ. จำนวน 3.96 แสนล้านบาท ที่ปรากฎในงบแสดงฐานะทางการเงินนั้นมิใช่เงินสด เป็นเพียงการแสดงตัวเลขสะสมของมูลค่าสินทรัพย์ที่ กฟผ. นำกำไรส่วนที่เหลือจากการนำส่งกระทรวงการคลังในแต่ละปีไปลงทุนในรูปของสินทรัพย์ที่ใช้ผลิตและส่งไฟฟ้าให้แก่ประชาชน อาทิ โรงไฟฟ้า สถานีส่งไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้า นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการในปี 2512 – 2564 จึงไม่สามารถนำกำไรสะสมดังกล่าวมาใช้สำหรับการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าได้
“กฟผ. ตระหนักดีว่า กฟผ. เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจจึงมิได้มุ่งแสวงหากำไรจากการดำเนินงาน โดยราคาค่าไฟฟ้าและกำไรของ กฟผ. ถูกกำกับโดย กกพ. ให้มีรายได้เพียงพอต่อการลงทุนและบริหารกิจการเท่านั้น รวมถึงต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นเงินรายได้แผ่นดินเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ สำหรับในช่วงวิกฤตพลังงานที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก กฟผ. มิได้นิ่งนอนใจ และร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มกำลังเพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน”