ผู้ชมทั้งหมด 541
ตามที่นายพัฒนา สัพโส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายพาดพิงกรมทางหลวง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น กรมทางหลวง ขอชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. การทำผิวทางลาดยางแบบพาราแอสฟัลต์ (Para AC.) เป็นการนำยางพารามาผสมกับยางมะตอยที่โรงงานผลิต แล้วนำใช้ทำเป็นผิวถนนชั้นบน คุณภาพดี แต่ราคาสูงกว่าผิวทางลาดยางที่ใช้อยู่ การทำผิวทางแบบพาราแอสฟัลต์ เกษตรกรชาวสวนยางได้รับประโยชน์เพียง 5% ปัจจุบันกรมทางหลวง ไม่มีการก่อสร้างผิวทางลาดยางแบบพาราแอสฟัลต์แล้ว โดยในปี 2563 รัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยงานต่าง ๆ ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการ และมอบหมายให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท พิจารณานำงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ได้ศึกษาทดลอง ในการนำยางพารามาทำหลักนำทางยางพารา และแผ่นยางครอบแท่งแบริเออร์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และลดความรุนแรงจากการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับประโยชน์โดยตรงเป็นสัดส่วนมากถึง 70% และตั้งแต่มีการก่อสร้างแท่งแบริเออร์คอนกรีตในปี 2564 ยังไม่มีการเกิดอุบัติเหตุการชนประสานงาจากการที่รถเสียหลักวิ่งข้ามเลนบริเวณที่มีการติดตั้งแท่งแบริเออร์คอนกรีต
2. การขอตั้งงบประมาณของกรมทางหลวง คำนึงถึงความคุ้มค่า ความพร้อมในการก่อสร้าง ความสำคัญของโครงข่าย ความต้องการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด การแก้ไขปัญหาที่ได้รับข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะความต้องการของประชาชนในพื้นที่ การซ่อมแซมบำรุงรักษาเส้นทางที่มีความเสียหาย การติดตั้งอุปกรณ์เสริมความปลอดภัย การแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงจุดอันตราย เพื่อให้ผู้ใช้เส้นทางได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย การจัดงบประมาณกระจายอย่างทั่วถึงทุกจังหวัดทุกภาค ทั้งนี้การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เป็นการพัฒนาปรับปรุงเส้นทางต่อเนื่องเป็นโครงข่ายทางหลวง หรือแก้ไขปัญหาจุดตัดทางแยกขนาดใหญ่ รวมถึงแก้ไขปัญหาจราจร ตามแผนพัฒนาทางหลวง ส่วนโครงการขนาดเล็กมุ่งแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดที่มีความเสียหาย มีความจำเป็นเร่งด่วน และป้องกันแก้ไขอันตรายในการเดินทางเป็นหลัก
3. จากกรณีกล่าวหาว่ามีการลักลอบขุดดินจากที่ สปก. มาก่อสร้างถนนสายท่าดอกแก้ว-ศรีสงคราม จ.นครพนม นั้น เรื่องนี้กรมทางหลวง ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ขอเรียนให้ทราบว่า บ่อดินที่ใช้ในโครงการก่อสร้างของกรมทางหลวงต้องเป็นบ่อดินที่มีเอกสารสิทธิ์ มีคุณภาพ และต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมทางหลวงก่อนนำมาใช้ ซึ่งบ่อดินที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการสายท่าดอกแก้ว-ศรีสงคราม นั้น มีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน และผ่านการทดสอบได้คุณภาพตามข้อกำหนดมาตรฐานกรมทางหลวง การขุดดินจากที่ สปก. ดังกล่าว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างนี้แต่อย่างใด
4. สำหรับประเด็นสอบถามของนายกฤษฎา ตันเทิดทิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หนองคาย พรรคเพื่อไทย ว่า โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน นครราชสีมา จะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อใด นั้น ขอเรียนให้ทราบว่า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธาเพิ่มเติมในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา วงเงิน 4,970 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในกรอบวงเงินงานโยธาทั้งโครงการที่ ครม. อนุมัติไว้ในปี 2559 ทั้งนี้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้กรมทางหลวงเร่งรัดเดินหน้าก่อสร้างอย่างเต็มที่ โดยเน้นย้ำถึงคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งคาดว่าปลายปี 2566 จะสามารถเปิดทดลองวิ่งช่วงปากช่องถึงปลายทางที่ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ยาวต่อเนื่องเป็นระยะทางยาวประมาณ 80 กิโลเมตร รวมถึงการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุน (PPP) การดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) เพื่อเร่งรัดงานติดตั้งระบบต่างๆ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง M-FLOW ระบบบริหารควบคุมการจราจร โดยจะเริ่มทดสอบระบบ พร้อมทยอยเปิดทดลองให้บริการได้ในปี 2567 และเปิดใช้งานมอเตอร์เวย์บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา อย่างเต็มรูปแบบในปี 2568 ต่อไป
กรมทางหลวง ยืนยันว่า การดำเนินการในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ทั้งโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และการซ่อมบำรุงรักษาทางหลวง ถูกต้องตามหลักทางวิศวกรรม เพื่อความสะดวก และความปลอดภัย มีความคุ้มค่ากับการใช้เงินงบประมาณ ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี โปร่งใส ตรวจสอบได้ รับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด