“การบินไทย” มั่นใจปี 66 รายได้โต 30% ขณะที่ปี 65 EBITDA โต 736%

ผู้ชมทั้งหมด 5,131 

“การบินไทย” มั่นใจปี 66 มีรายได้ 1.3 – 1.4 แสนล้านบาท เติบโต 30% คาด Cabin Factor เฉลี่ย 80% ปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมการบิน การท่องเที่ยวฟื้นตัว ขณะที่ปี 65 EBITDA โต 736% กระแสเงินสดแข็งแกร่ง แม้ขาดทุน 252 ล้านบาท คาดกลับเข้าเทรดในตลาดฯ ต้นปี 68

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า ทิศทางผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทฯ รวมบริษัทย่อย คาดว่าจะมีรายได้รวมราว 1.3 – 1.4 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากปี 2565 ที่มีรายได้รวม 105,041 ล้านบาท และคาดว่าจะมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80% เนื่องจากจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว รวมทั้งการปรับโครงสร้างทางธุรกิจและต้นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยเป็นไปย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศของจีน ประกอบกับการบินไทยยังได้เพิ่มฝูงบินรองรับการกลับมาบินตามปกติในเส้นทางบินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป ออสเตรเลีย กลุ่มประเทศเอเชียเหนือ อย่างประเทศจีน ญี่ปุ่น

โดยในปัจจุบันบริษัทฯและบริษัทย่อยมีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวมทั้งสิ้น 64 ลำ และในปี 2566 มีแผนรับมอบอากาศยานรุ่น A350 เพิ่ม 6 ลำ โดยจะเป็นการเช่าดำเนินจะเริ่มรับมอบลำแรกในเดือนเมษายนนี้ และซ่อมบำรุงโบอิ้ง 777-200ER อีก 1 ลำ เพื่อเพิ่มเข้ามาฝูงบิน ซึ่งจะส่งผลให้การบินไทยมีฝูงบินเพิ่มเป็น 71 ลำในปีนี้ ช่วยเสริมสภาพคล่องในการบินได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามในตารางการบินฤดูร้อน ปี 2566 การบินไทยให้บริการเที่ยวบินสู่ 39 เส้นทางบินทั่วโลก พร้อมเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย อาทิ โตเกียว (นาริตะ และฮาเนดะ) โอซากา โซล ไทเป ฮ่องกง สิงคโปร์ กัลกัตตา มุมไบ เป็นต้น และกลับมาให้บริการเส้นทางบินเพิ่มเติมในเส้นทางประเทศจีนในช่วงต้นปีได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง เฉิงตู กวางโจว เพื่อรองรับการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเร่งขยายขนาดฝูงบินให้เพียงพอต่อแผนเส้นทางบินและจำนวนเที่ยวบิน เพื่อบรรลุเป้าหมายการหารายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ นำไปสู่ความเจริญอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป

นายชาย  กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของปี 2565 บริษัทการบินไทยและบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 252 ล้านบาท ลดลง 101% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 55,113 ล้านบาท เนื่องจากบริจากผลการดำเนินงานของบริษัทย่อย โดยเฉพาะบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ซึ่งมีผลการดำเนินงานขาดทุน 4,248 ล้านบาท และรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิของบริษัทฯและบริษัทย่อยสุทธิที่เป็นรายได้ 1,187 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกลับรายงานผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ กำไรจากการขายสินทรัพย์ การขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากการตีมูลค่าทางบัญชีอันเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินบาท และต้นทุนทางการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9) 11,148 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าประมาณการในแผนฟื้นฟูกิจการ  ในขณะที่ปี 2564 มีกำไรต่อหุ้น 25.25 บาท พร้อมกันนนี้บริษัทฯ และบริษัทย่อยยังมีกำไรจากการดำเนินงานที่เติบโตอยู่ที่ 7,797 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 140% กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 17,241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 736% และมีกระแสเงินสดที่ 34,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 526% ซึ่งจากที่กระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นก็อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินตามแผนฟื้นฟูที่มีแผนการเพิ่มทุนวงเงิน 25,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินกู้ระยาว 12,500 ล้านบาท และเงินหมุนเวียนในกิจการ 12,500 ล้านบาท

ปรับโครงสร้างทุนเสร็จกลางปี 67 กลับมาเทรดต้นปี 68

นายชาย กล่าวว่า ถ้านับกระแสเงินสดในปัจจุบัน ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกระแสเงินสดกว่า 4 หมื่นล้านบาท และแนวโน้มผลประกอบการคาดว่าจะดีขึ้น ทำให้ความจำเป็นในการใช้เงินกู้ก้อนใหม่ลดลง โดยบริษัทต้องการให้เจ้าหนี้ใหม่มาใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนมากกว่าการกู้เงิน ซึ่งจะช่วยให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกเร็วขึ้น ซึ่งเรื่องการกู้เงินนั้นจะมีความชัดเจนภายในกลางปีนี้

ขณะที่การปรับโครงสร้างทุน ที่มีทั้งการแปลงหนี้เป็นทุน การขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมคาดว่ายะสามารถดำเนินการครึ่งหลังปี 2567 หลังจากคาดว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างทุน ในกลางปีนที่มีบล.เกียรตินาคินภัทรเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะใช้สิทธิเต็ม ที่จะแปลงหนี้เป็นทุนและซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยหลังจากปรับโครงสร้างทุนใหม่ กระทรวงการคลังจะถือหุ้น 44% ก็จะทำให้การบินไทยไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป และเมื่อปรับโครงสร้างทุนแล้วก็จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก จากนั้นออกจากแผนฟื้นฟู และคาดว่า หุ้น THAI จะกลับเข้าไปซื้อขายในต้นปี 2568