“คมนาคม”คิกออฟยางพาราเพื่อความปลอดภัยทางถนนอุทัยธานี

ผู้ชมทั้งหมด 1,323 

“นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการนํายางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนจังหวัดอุทัยธานี”

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการนํายางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) จังหวัดอุทัยธานี โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท และประชาชนในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ชัยนาท นครสวรรค์ และอุทัยธานี ให้การต้อนรับและเข้าร่วมงาน ในวันที่ 30 กันยายน 2563 ณ บริเวณทางหลวงหมายเลข 3265 ตอนแยกโคกหม้อ – ท่าซุง กม.ที่ 7+725 ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการนํายางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) ณ จังหวัดอุทัยธานีครั้งนี้ ถือเป็นโครงการต่อเนื่องจากพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “อุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา” เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ให้หน่วยงานของรัฐส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ 1 ล้านตัน ภายใน 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากปัญหาราคายางตกต่ำ และยางล้นตลาด กระทรวงฯ จึงได้นำนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติด้วยการนำผลิตผลจากยางพารามาเป็นสู่วนผสมในการก่อสร้าง ซ่อมบำรุงถนน และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น โดยยางพาราที่นำมาใช้ต้องเป็นรูปแบบที่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศเพื่อส่งเสริมการใช้ยางพารา ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

กระทรวงคมนาคม โดย กรมทางหลวง (ทล.) และ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ผลการศึกษาและวิจัยพบว่ามี 2 ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณยางพาราเป็นส่วนผสมจำนวนมาก และสามารถลดความรุนแรงของการชนปะทะได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ 1) ยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และ 2) หลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสถาบัน Korea Automobile Testing & Research Institute (KATRI) สาธารณรัฐกาหลี ได้รับรองผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ในปี 2563 – 2565 ทล. และ ทช. มีแผนการดำเนินโครงการ RFB และ RGP ที่จะใช้ยางพารากว่า 1,000,000 ตัน ช่วยสร้างรายได้โดยตรงให้แก่เกษตรกรคิดเป็น 71% หรือเป็นผลตอบแทนกว่า 30,000 ล้านบาท

โดยมีเป้าหมายการผลิต RFB ระยะทาง 12,282.74 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวม 83,421.602 ล้านบาท และเป้าหมายการผลิต RGP จำนวน 1,063,651 ต้น ใช้งบประมาณ 2,202.172 ล้านบาท และจะมีการสำรวจในปี 2566 เป็นต้นไปเพื่อเปลี่ยนแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติทดแทนที่เสื่อมสภาพหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้ยางพาราในทุก ๆ ปี ปีละไม่น้อยกว่า 336,000 ตัน ซึ่ง RFB และ RGP ที่เสื่อมสภาพหรือชำรุดเสียหายจะนำมาทำการ Reuse ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น หลักเขตทาง เนินชะลอความเร็ว (Speed humps) ฐานกรวยถ่วงน้ำหนัก หรือทำการย่อยให้อยู่ในรูปแบบยางครัมบ์ (Crumb Rubber) เพื่อจำหน่ายในอุตสาหกรรมที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต