ผู้ชมทั้งหมด 1,015
“คมนาคม”ปี65ทุ่มงบ1.1แสนล้านขยายโครงข่ายบก-ราง-น้ำ-อากาศ พร้อมเร่งสานฝันโครงการแลนด์บริดจ์หวังหนุนไทยสู่ศูนย์กลางขนส่งอาเซียน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทย ด้วยการลงทุน ว่า ไทยมีจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางอาเซียน เป้าหมายของกระทรวงจึงต้องการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทุกโหมด ให้สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการเดินทางของอาเซียน ดังนั้น ไทยต้องพร้อมทั้งทางบก ราง อากาศ และทางน้ำ ซึ่งปัจจุบันทางน้ำไทยมีความพร้อมทางทะเล ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เหลือการสร้างการเชื่อมต่อการเดินทางจากมหาสมุทรอินเดียมาอ่าวไทย
ทั้งนี้การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้นในปี 2565 กระทรวงคมนาคมได้เบิกจ่ายงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท พร้อมกันนี้ทางกระทรวงคมนาคมยังได้มีการจัดหาแหล่งเงินจากช่องทางอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) การระดมทุนจากกองทุนฟิวเจอร์ฟันด์ และแหล่งเงินกู้จากสำนักงานบริหารหนี้ ซึ่งวิธีการจัดหาแหล่งเงินทุนทั้ง 3 แหล่งนี้ จะมาเติมเต็มงบประมาณที่ลดลงในปี 2565 ทำให้เกิดการลงทุนจากโครงการภาครัฐมากกว่างบประมาณที่ได้รับจัดสรร 1.1 แสนล้านบาท
ขณะที่งบประมาณปี 2564 จำนวน 1.8 แสนล้านบาท ปัจจุบันได้เบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 50% ปัจจุบันทุกหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมกำลังดำเนินการเร่งเบิกจ่ายให้ได้ครบตามจำหน่วย เพื่อเร่งลงทุนตามแผนที่สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางของอาเซียน
โครงการที่จะสนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางอาเซียนนั้น โครงข่ายทางบกจะเป็นลำดับความสำคัญที่สุด โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเส้นทางแลนด์บริดจ์ ซึ่งขณะนี้ทูตและนักลงทุนหลายประเทศเข้ามาสอบถามเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่ามีคนสนใจมาก ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ย้ำเสมอว่าในที่สุดการลงทุนเหล่านี้ก็จะเป็นการเปิดพีพีพี เปิดในรูปแบบการลงทุนนานาชาติ นอกจากนี้จะเร่งผลักดันให้เกิดโครงข่ายมอเตอร์เวย์ เส้นทางนครราชสีมา – อุบลราชธานี, เส้นทางหนองคาย- แหลมฉบัง, และเส้นทางวงแหวนรอบ 3 กรุงเทพมหานคร ทั้งหมดนี้คาดว่าในปี 2565 จะเห็นรูปแบบที่ชัดเจนของเส้นทางเหล่านี้ และงบประมาณการลงทุน
สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์จากผลศึกษาของกระทรวงคมนาคมไม่จำเป็นต้องขุดคลองเพื่อเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันเพราะใช้เงินลงทุนมหาศาล ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยการลงทุนในปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อได้ผ่านแลนด์บริดจ์ โดยแต่ละฝั่งทะเลจะมีท่าเรือน้ำลึก และเชื่อมต่อผ่าน MR-Map หรือการเชื่อมต่อด้วยโครงข่ายทางถนนมอเตอร์เวย์ และรถไฟ โดยเลือกใช้เส้นทางที่มีระยะสั้นสุด เพื่อผลักดันให้เป็นเส้นทางโลจิสติกส์ใหม่ของภูมิภาคอาเซียน จากเดิมที่ต้องใช้ช่องแคบมะละกา สำหรับการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ปัจจุบันคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติงบศึกษาโครงการแล้ว ปีหน้าจะได้เห็นภาพรวมของแลนด์บริดจ์ว่าจะเป็นอย่างไร
นอกจากนี้แล้วการพัฒนารถไฟทางคู่ก็เป็นโจทย์สำคัญที่จะช่วยยกระดับการเป็นศูนย์กลางการเดินทางอาเซียน และเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ดังเส้นทางรถไฟทั่วประเทศไทยจะต้องเป็นทางคู่ เพื่อสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ทางรางในสัดส่วน 30% ของการขนส่ง
ส่วนการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) 2 เส้นทาง คือ รถไฟไทย – จีน และรถไฟเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งและการเดินทาง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าระบบรางจะกลายเป็นโลจิสติกส์สำคัญของประเทศในอนาคต
ขณะที่การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า ต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมี 14 เส้นทางที่เปิดให้บริการ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกหลายเส้นทาง ซึ่งการดำเนินงานก่อสร้างเป็นไปตามแผนทุกเส้นทางจะแล้วเสร็จในปี 2570 ทำให้ทั่วกรุงเทพฯ มีระยะทาง 554 กิโลเมตร ตอบโจทย์การเดินทาง เชื่อมกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง สนับสนุนการเดินทางรอบกรุงเทพฯ จากเส้นทางที่เป็นวงกลม พร้อมกันนี้ยังมีแผนขยายรถไฟรางเบาในต่างจังหวัดด้วย