คมนาคมร่วมกับกทม. เตรียมรับมือ PM 2.5 จากภาคการขนส่ง

ผู้ชมทั้งหมด 500 

คมนาคมร่วมกับกทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือยกระดับการป้องกัน และลดมลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 ชี้สาเหตุหลักเกิดจากภาคการขนส่ง พร้อมสั่ง 8 หน่วยเตรียมมาตรการรับมือ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงนโยบายและมาตรการเพื่อป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากภาคคมนาคมขนส่ง และการติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่น PM 2.5

โดยมี นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท ขนส่ง จํากัด สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษ ร่วมในการแถลงนโยบาย ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.00 น. ณ ห้องราชดำเนิน ชั้น 2 อาคารราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานครได้บูรณาการร่วมกันในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาและกำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยความห่วงใยและใส่ใจในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพของพี่น้องประชาชนรวมถึงเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดจัดทำนโยบายเชิงรุกในการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม และกำหนดมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน รวมถึงติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตน

กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดำเนินการตรวจควันดำและฝุ่น PM 2.5 เชิงรุก โดยจัดเจ้าหน้าที่ชุดตรวจการขนส่งทางบกเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ตรวจสอบค่า PM 2.5 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีค่า PM 2.5 เกินมาตรฐาน และชุดเฉพาะกิจเข้าให้คำแนะนำเพื่อป้องกันการปล่อยควันดำของรถโดยสารไม่ประจำทาง ณ สถานประกอบการ โดย ขบ. จะบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานครจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ออกตรวจสอบค่าฝุ่น PM 2.5 ณ สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ 233 แห่ง และสถานประกอบการ ได้แก่ แพลนท์ปูน บริเวณไซต์งานก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ อีกทั้ง ขบ. ได้จัดเจ้าหน้าที่กองตรวจการลงพื้นที่ตรวจสอบรถโดยสารประจำทางหมวด 1 ณ อู่รถเมล์ ขสมก. ทั้ง 8 เขตการเดินรถ 21 แห่ง รวมถึงรถโดยสารประจำทาง ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร เอกมัย สายใต้) นอกจากนี้ ขบ. ได้สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าผ่านมาตรการทางภาษีประจำปี รวมทั้งดำเนินแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมการเดินทางของประชาชนเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลต่อไป

กรมการขนส่งทางราง (ขร.) สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น ผ่านนโยบายอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสีม่วง พร้อมผลักดันระบบขนส่งทางรางเปลี่ยนมาใช้รถไฟ EV on Train มาให้บริการประชาชนเพื่อลดมลภาวะทางอากาศ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยการนำเทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) แทนที่ยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของกระทรวงคมนาคม

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในบริเวณโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ประกอบด้วย 1) ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ 2) ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ 3) ช่วงนครปฐม – ชุมพร 4) ช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และ 5) ช่วงบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด ให้ดำเนินมาตรการจำกัดพื้นที่การทิ้งและห้ามเผาขยะซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดฝุ่น PM 2.5 และติดรั้วป้องกันฝุ่นละออง โดยได้เพิ่มปริมาณการฉีดน้ำทำความสะอาดในพื้นที่ก่อสร้าง กำชับให้มีการตรวจสอบสภาพเครื่องจักรให้พร้อมใช้งาน จัดชุดทำความสะอาดล้อรถก่อนขึ้นถนนสาธารณะ ทั้งนี้ รฟท. ได้ดำเนินแผนการใช้เชื้อเพลิงไบโอดีเซลซึ่งถือเป็นพลังงานทางเลือก ช่วยลดมลพิษทางอากาศ และดำเนินโครงการจัดหารถจักรรุ่นใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมปรับปรุงพื้นที่โรงซ่อมบำรุงให้สอดคล้องกับกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อม

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินมาตรการลดฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า โดยได้กำชับและสั่งการให้ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างทุกโครงการ ต้องติดตั้งรั้วสูง 2 เมตร ล้อมรอบพื้นที่ก่อสร้างและปิดคลุมกองวัสดุก่อสร้าง/กระบะรถบรรทุกเพื่อป้องกันฝุ่นละออง พร้อมทั้งทำความสะอาดถนนสาธารณะโดยใช้รถกวาดดูดฝุ่นและการฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณพื้นที่ก่อสร้างในช่วงที่มีค่า PM 2.5 สูง และตรวจสอบสภาพเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างให้อยู่ในสภาพดีไม่ให้มีควันดำหรือควันขาว

บริษัท ขนส่ง จํากัด (บขส.) ดำเนินมาตรการด้านรถโดยสาร 3 ด้าน ดังนี้ 1) การบริหารจัดการเกี่ยวกับรถโดยสาร โดยจัดให้มีการตรวจวัดควันดำรถโดยสารก่อนนำรถออกให้บริการประชาชน 2) การปรับลดเส้นทางเดินรถ และควบรวมเที่ยววิ่งรถโดยสาร เพื่อปรับลดจำนวนเส้นทางเดินรถโดยสารและเที่ยววิ่งรถ และ 3) จัดหารถโดยสาร EV ทดแทนรถโดยสารที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำรถ EV BUS เข้าวิ่งในระบบมากขึ้น ในส่วนการบริหารสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร เอกมัย สายใต้) ดำเนินการทำความสะอาดโดยรอบอาคารผู้โดยสารเพื่อลดฝุ่นละอองและประชาสัมพันธ์เมื่อรถเข้าใช้ชานชาลาให้ดับเครื่องยนต์และสตาร์ทเครื่องยนต์ก่อนออกเดินรถ อีกทั้ง การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม เพื่อร่วมมือกันป้องกันและลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อาทิ

กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการจำกัดพื้นที่หน้างานก่อสร้างและบำรุงทางที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองน้อยที่สุด กำชับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพเครื่องจักรก่อสร้างให้อยู่ในสภาพดี รวมทั้งงดใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วกับเครื่องจักรจัดการขยะอย่างเหมาะสมและห้ามเผาขยะโดยเด็ดขาด โดย ทล. จะร่วมสร้างเครือข่ายผู้ประสานงาน PM 2.5 ภายใต้ชื่อกลุ่ม “PM 2.5 DOH” เพื่อรายงานผลการดำเนินงานแบบรายวันในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของหน่วยงาน ทล. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อีกทั้งจัดชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือในการป้องกันและควบคุมไฟป่า โดยใช้รถบรรทุกฉีดน้ำเพื่อเข้าระงับเหตุกรณีเกิดไฟป่าหรือไฟไหม้สองข้างทางหลวง

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินมาตรการลดปัญหาสภาพการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ และติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำแรงดันสูงที่ควบคุมการทำงานโดยการวัดคุณภาพอากาศ บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางของทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) โดยเครื่องพ่นละอองน้ำแรงดันสูงจะทำงานอัตโนมัติ เมื่อตรวจพบค่า PM 2.5 เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ทั้งนี้ อยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำแรงดันสูงแบบควบคุม ณ ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ 28 แห่ง

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เข้มงวดในการตรวจวัดค่าควันดำรถโดยสารทุกคันทุกวัน หากมีค่าควันดำเกินมาตรฐานจะนำรถส่งเข้าซ่อมบำรุงโดยทันที และดำเนินการตรวจเช็กรถโดยสารให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เช่น เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง หัวฉีด ไส้กรองไอเสีย ไส้กรองอากาศ ท่อพักไอเสีย ล้างทำความสะอาดท่อไอเสียของรถโดยสาร รวมทั้งทำความสะอาดอู่จอดรถและรถโดยสารเพื่อชะล้างฝุ่นละออง

นายชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีอัตราการใช้รถยนต์บนท้องถนน การก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ฯลฯ ซึ่งเป็นสาเหตุในการเกิดมลพิษทางอากาศฝุ่น PM 2.5 โดยกรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนลดฝุ่น 365 วัน ค่าฝุ่นไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.และแผนบริหารจัดการฝุ่นระยะวิกฤตที่มีค่าฝุ่น ตั้งแต่ 37.6 มคก./ลบ.ม. เพื่อการติดตามเฝ้าระวัง กำจัดต้นตอ ป้องกันประชาชน และการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบบทุกมิติ พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับ ขบ. ออกตรวจสอบวัดค่าควันดำรถบรรทุก ณ สถานประกอบการ ได้แก่ แพลนท์ปูน บริเวณไซต์งานก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ โรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานครพร้อมบูรณาการและติดตามผลการดำเนินงานในการขับเคลื่อนมาตรการให้เป็นไปตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมดำเนินมาตรการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 และรายงานในทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือนมายังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป