ผู้ชมทั้งหมด 1,823
หลังจากสถานการณ์โควิด – 19 หลายประเทศคลี่คลายขึ้นก็ได้เปิดประเทศกัน การเดินทางเริ่มทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อุตสาหกรรมการบิน การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคัก เพื่อรองรับการเดินทาง กระทรวงคมนาคมจึงได้เตรียมความพร้อมทุกมิติของการเดินทาง ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศ และได้เร่งขยายการลงทุนต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายในงาน Meet & Greet “Thailand Moving Together กอด กิน บิน เที่ยว ใช้ชีวิตใกล้ชิดอีกครั้ง”ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตั้งแต่ ปี 2563 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชน ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข กระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม ได้ประสานความร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อบรรเทาความ เดือดร้อนของประชาชน และเตรียมความพร้อมรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นภายหลังจาก สถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย โดยกระทรวงคมนาคมได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน ณ สถานีกลางบางซื่อ ปัจจุบันได้ให้บริการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 20 ล้านโดส ซึ่งเป็นผลให้ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่กระทรวงคมนาคมไม่ได้หยุดหรือชะลอการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เนื่องจากเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ รองรับการค้าการลงทุนจาก ต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญครอบคลุมพื้นที่ สามารถรองรับความต้องการของประชาชนและส่งผลต่อยอดเชื่อมโยงเครือข่ายในระดับประเทศ โดยกระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อมภายหลัง สถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายในทุกมิติของการเดินทางแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. การเตรียมความพร้อมการเปิดประเทศ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินของไทยจะกลับสู่ภาวะปกติในปี 2567 และผู้โดยสารจะเติบโตถึง 200 ล้านคนต่อปี ในปี 2574 โดยอุตสาหกรรมการบินของไทยจะเติบโตเป็นอันดับ 9 ของโลกนับตั้งแต่มีมาตรการเปิดประเทศ ปริมาณผู้โดยสารต่างชาติต่อเดือนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพิ่มสูงขึ้นจาก 270,000 คนต่อเดือน ในช่วงต้นปี 2565 เป็นกว่า 1 ล้านคน ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจากการคาดการณ์ในปี 2565 จะมีจำนวนผู้โดยสารเดินทางโดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กว่า 22 ล้านคน นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยประมาณ 6 ล้านคน โดยค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนตามข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะอยู่ที่ประมาณคนละ 48,000 บาทจะก่อให้เกิดเม็ดเงินที่เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศ สูงถึง 326,000 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 565,450 ล้านบาท ในปี 2566 ซึ่งจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทวีคูณทางเศรษฐกิจถึง 1.34 ล้านล้านบาท
สำหรับในเรื่องดังกล่าวนี้กระทรวงคมนาคมได้มีการเตรียมความพร้อมแล้วในทุกมิติเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ปัจจุบันท่าอากาศยานเกือบทุกแห่งมีความพร้อมแล้วสำหรับการรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมีการเตรียมความพร้อม Slot รองรับเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้นจากมาตการเปิดประเทศในท่าอากาศยานหลัก การเตรียมความพร้อมระบบ Self Check-in ที่ท่าอากาศยาน เพื่อลดการสัมผัสตามมาตรการสาธารณสุข รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้โดยสารและลดแถวคอย Check-in และเตรียมความพร้อมตรวจคนเข้าเมืองที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นอกจากนี้ ยังได้กำชับกรมการขนส่งทางบกให้ส่งผู้ตรวจการกรมลงพื้นที่ตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะและรถแท็กซี่ โดยเฉพาะในพื้นที่ท่าอากาศยาน สถานีขนส่งผู้โดยสารให้มีความพร้อมในการบริการผู้โดยสาร ส่วนการเดินรถโดยสารประจำทางเส้นทางระหว่างประเทศ บขส. ได้เปิดเดินรถระหว่างประเทศไทย – สปป.ลาว จำนวน 9 เส้นทาง ในวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
2. การเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคู่ขนานกันทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งแต่ละโครงการมีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก ขณะที่หลายโครงการเป็นการลงทุนต่อเนื่อง ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะลงทุนในอนาคต เพื่อขับเคลื่อนพัฒนางานคมนาคมครอบคลุมในทุกมิติ
มิติการเดินทางทางราง โดย การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และชานเมือง ซึ่งเป็นหัวใจการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและลดปัญหามลพิษซึ่งตามแผนแม่บทการพัฒนามีทั้งหมด 14 สี 27 เส้นทาง ระยะทาง 554 กิโลเมตร ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วจำนวน 7 สี 11 เส้นทาง รวมระยะทาง 212 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 4 สี 4 เส้นทาง รวมระยะทาง 114 กิโลเมตร ประกอบด้วย 1.สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี คาดว่าจะเปิดให้บริการเดือนกรกฎาคม 2566, 2.สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง คาดว่าจะเปิดให้บริการเดือนเมษายน 2566 3.สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี คาดว่าจะเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2568 และ 4.แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท – ดอนเมือง ตามแผนจะเปิดให้บริการเดือนมกราคม 2571
การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้วางแผนการลงทุนเพื่อพัฒนารถไฟทางคู่ในโครงข่ายทางรถไฟ ดังนี้1) เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จ ประกอบด้วย เส้นทางลพบุรี – ปากน้ำโพ นครปฐม – หัวหิน หัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ และประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร 2) เริ่มงานการก่อสร้าง ทางรถไฟสายใหม่ ประกอบด้วย เส้นทางเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม และ 3) การเสนอขออนุมัติโครงการทางคู่ ระยะที่ 2 อีก 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตรจะทำให้ประเทศไทยจะมีเส้นทางรถไฟทางคู่มากกว่า 3,200 กิโลเมตร ทั่วประเทศ
การพัฒนารถไฟความเร็วสูง (High Speed Rail) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางของประชาชนและเชื่อมต่อประเทศไทยกับประเทศอื่นในภูมิภาคในปี 2565 กระทรวงคมนาคมกำลังเร่งดำเนินการ ดังนี้1) โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา 2) โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงที่ 2 นครราชสีมา – หนองคาย และ 3) รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา)
มิติการเดินทางทางถนน
กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาการคมนาคมขนส่งทางถนนที่สำคัญ ประกอบด้วย1)ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6)2) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ทั้ง 2 โครงการจะเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2565 และเริ่มหาเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารที่พัก ริมทาง เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้บางส่วนในปี 2566
มิติการเดินทางทางน้ำ
โครงการพัฒนาท่าเรือที่สำคัญของประเทศไทย จำนวน 2 ท่าเรือ ประกอบด้วย1)โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เมื่อพัฒนาแล้วจะเพิ่มขีดความสามารถท่าเรือ แหลมฉบังจาก 11 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2568 และ 2) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการถมทะเล โดยจะเพิ่มขีดความสามารถท่าเรือจาก 16 ล้านตันต่อปี เป็น 31 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2569
มิติการเดินทางทางอากาศ
โครงการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางอากาศที่สำคัญ จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วยประกอบด้วย 1) การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หรือ SAT-1 เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันได้ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ และ 2) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 3 ล้านคนต่อปี ให้ได้ 15.9 ล้านคนต่อปี ในปี 2567 ช่วยรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของประเทศสำหรับอนาคต ประกอบด้วย 1) โครงการ MR-MAP เป็นการพัฒนาแนวโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองคู่ขนานไปกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ ประกอบด้วย 10 เส้นทาง แบ่งเป็นแนวเหนือใต้ 3 เส้นทาง แนวตะวันออก – ตะวันตก 6 เส้นทาง และแนววงแหวนอีก 1 เส้นทาง
2) โครงการ Landbridge ชุมพร – ระนอง กระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน ที่จังหวัดชุมพรและระนอง ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการขนส่งเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดของช่องแคบมะละกา และจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญ
3) การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งทางทะเล อยู่ระหว่างดำเนินโครงการการจัดตั้งสายเดินเรือแห่งชาติ โดยรูปแบบในการดำเนินการรัฐบาลจะร่วมกับภาคเอกชนในการจัดตั้งสายเดินเรือของไทยขึ้น โดยรัฐบาลจะอำนวยความสะดวกพร้อมให้สิทธิพิเศษในการจัดตั้งและดำเนินการเพื่อให้กองเรือไทยสามารถแข่งขันได้ และเป็นเครื่องมือในการขนส่งสินค้าของไทยทั้งการนำเข้าและส่งออก เพื่อสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป