“คลายล็อคดาวน์-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” หนุนการใช้น้ำมันเดือนม.ค.65 โต 20.9%

ผู้ชมทั้งหมด 626 

กรมธุรกิจพลังงาน เผยยอดการใช้น้ำมันของประเทศเดือนม.ค.2565 เติบโต 20.9% ตอบรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นหลังผ่อนคลายล็อคดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกเว้น NGV ยังลดลง จากผฃกระทบโควิด-19

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันเดือนมกราคม 2565 พบว่า เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 20.9 โดยการใช้กลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.5 น้ำมันก๊าด เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 น้ำมันเตา เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.8 LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 อย่างไรก็ตาม การใช้ NGV ลดลงร้อยละ 2.7

โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 30.54 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.8) โดยปริมาณการใช้กลุ่มแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 29.91 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.2) การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ อี20 และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.04 ล้านลิตร/วัน 15.79 ล้านลิตร/วัน 6.13 ล้านลิตร/วัน และ 0.95 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ เนื่องจากการผ่อนคลายล็อคดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.63 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากราคาเบนซินที่อยู่ในระดับสูง โดยแตะระดับสูงสุด 42.01 บาท/ลิตร ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2565 และหากพิจารณาการใช้กลุ่มเบนซินเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2564 พบว่า การใช้ลดลงร้อยละ 9.4 เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนหลังเทศกาลปีใหม่

ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 75.87 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.4) สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 62.63 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 68.9) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 3.83 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 0.23 ล้านลิตร/วัน การใช้ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้า โดยในเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 6.94 ล้านลิตร/วัน

ขณะที่การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 6.99 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 75.5) เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้าประเทศ เมื่อเทียบกับมาตรการปีก่อนหน้า แต่เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน การใช้น้ำมัน Jet A1 จึงยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ 

นอกจากนี้ การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.19 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.7) เนื่องจากการใช้ในภาคปิโตรเคมีที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.54 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.9) และการใช้ในภาคขนส่งที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.90 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.7) นอกจากนี้ การใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.96 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.1) และ 5.78 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.6) ตามลำดับ

และการใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.18 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง ร้อยละ 2.7) โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับจำนวนสถานีบริการและรถ NGV ที่ลดลง

สำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,015,944 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.9) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 926,590 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.6) ในจำนวนนี้พบว่าเป็นการนำเข้าจากรัสเซียร้อยละ 1.2 (ปี 2564 การนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียคิดเป็นร้อยละ 3.3) มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 81,810 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 77.5) สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 89,353 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 7,468 ล้านบาท/เดือน

ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม 2565 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 150,897 บาร์เรล/วัน (ลดลง  ร้อยละ 0.8) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 14,575 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 74.0) มูลค่าการส่งออกที่สูงขึ้นนี้เป็นผลจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในเดือนมกราคม 2565