ชงบอร์ดกบน.เดือนธ.ค.นี้เคาะเลือกแบงก์ปล่อยกู้ 2 หมื่นล.อุ้มดีเซล

ผู้ชมทั้งหมด 1,130 

สนกช.เตรียมชง “บอร์ด กบน.” เดือน ธ.ค.นี้ เคาะเลือกสถาบันการเงินฯ ปล่อยกู้ 2 หมื่นล้านบาทตาม พ.ร.บ. ให้กองทุนน้ำมันฯ ใช้อุ้มราคาดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ยันแผนชำระหนี้เคลียร์จบใน 3 ปี มั่นใจรับมือราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ ขณะที่บอร์ด กบน. ขยายกรอบวงเงินดูแดราคา LPG อีก 2,000 ล้านบาท ตรึงราคาถึงสิ้นปี

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) เปิดเผยว่า สกนช.เตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ภายในเดือนธันวาคมนี้ พิจารณาอนุมัติเลือกสถาบันการเงิน ที่จะปล่อยเงินกู้ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้กู้เงินได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท  ให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ดูแลเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล และก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) หรือ ก๊าซหุงต้ม หลังจากเมื่อเร็วๆนี้ ได้ส่งหนังสือเชิญไปยังสถาบันการเงิน 10 แห่ง เพื่อขอให้นำเสนอแผนเงินกู้ดังกล่าว คาดว่า จะมีสถาบันการเงิน แสดงความสนใจและตอบรับนำเสนอแผนเงินกู้กลับมาให้พิจารณาได้ในเร็วๆนี้ ก่อนสรุปผลการคัดเลือกสถาบันการเงิน เพื่อนำเสนอบอร์ด กบน.อนุมัติต่อไป

“ในอดีตเมื่อปี 54 เคยกู้เงินเป็นสเตป ทีละ 20,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนั้นมีธนาคารที่ปล่อยกู้ คือ กรุงไทยและออมสิน ดังนั้นมั่นใจว่า การกู้เงินในครั้งนี้จะมีสถาบันการเงินตอบรับมากกว่า 2 เจ้าดังกล่าว และสกนช.จะพิจารณาเลือกกู้เงินกับสถาบันการเงินที่ให้เงื่อนไขดีที่สุด หรือมีอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด”

ขณะที่แผนการชำระเงินกู้ทั้งหมด สกนช.ได้จัดทำกรอบดำเนินการตามกฎหมายคือ ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับการกู้เงินเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม กระบวนการกู้เงิน วงเงิน 20,000 ล้านบาทดังกล่าว ตามแผนดำเนินการของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง คาดว่า จะมีเงินเข้าระบบภายในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งในระหว่างนี้ กองทุนน้ำมันฯ จะยังสามารถดูแลราคาขายปลีกดีเซล และ LPG ได้ หากราคาน้ำมันดิบยังเป็นไปตามสมมติฐานที่ราคาไม่เกิน 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

โดยล่าสุด สถานะกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564  มีจำนวน 1,426 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันสุทธิ 22,400 ล้านบาท ส่วนบัญชี LPG มีวงเงินติดลบอยู่ที่ 20,974 ล้านบาท โดยในช่วงรอยต่อ 4 เดือนในการชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และ กบน. ขอยืนยันว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังคงมีสภาพคล่องในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างดีที่สุด

ทั้งนี้ สนกช.ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอย่างใกล้ชิดและจะมีการสรุปข้อมูลในทุกเดือน ซึ่งหากไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ หรือ ราคาปรับสูงขึ้น ก็ยังมีวงเงินกู้ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 วรรค 3 ที่เปิดช่องให้สามารถใช้อำนาจตาม พระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ) กู้เงินเพิ่มเติมได้ 

และล่าสุด เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้รักษาราคาน้ำมันฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้้ามันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ. 2564 โดยให้เปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเป็นจำนวนไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ สามารถกู้เงินตาม พ.ร.ฎ. ได้อีก 10,000 ล้านบาท โดยการกู้เงินในส่วนนี้จะดำเนินการในระยะต่อไป

สำหรับการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผ่านมา ได้เข้าไปมีส่วนช่วยในการแก้ไขวิกฤตผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงที่ สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีความผันผวน ซึ่งในส่วนของสถานการณ์ราคา LPG ได้เข้าไปอุดหนุนเพื่อตรึงราคา LPG ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพประชาชนในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มีนาคม 2563 ไปแล้ว 13,251 ล้านบาท

ขณะที่ในช่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวน กองทุนน้ำมันฯ ได้เข้าไปตรึงราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ตั้งแต่เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2564 โดยมีการชดเชยไปแล้วกว่า 7,211 ล้านบาท ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินร่อยหรอ และต้องนำไปสู่การกู้เงินดังกล่าว เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

นายวิศักดิ์ กล่าวอีกว่า การประชุมบอร์ด กบน.เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้อนุมัติขยายกรอบวงเงินเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท จากเดิม 21,000 ล้านบาท รวมเป็น 23,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยราคาขายปลีก LPG ขนาดถึง 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาท ไปจนถึง 31 ธ.ค.นี้ ตามมติ กบง. ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างประสานข้อมูลกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เพื่อขอแยกการชดเชยราคา LPG ไปใช้ในส่วนของเงินกู้เยียวยาโควิด-19 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งหากได้รับการอนุมัติก็คาดว่า จะได้รับจัดสรรเงินประมาณเดือนมกรคม 2565