ผู้ชมทั้งหมด 365
พื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claimed Area-OCA) เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญด้านพลังงาน ในยุครัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีจะต้องเร่งดำเนินการเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาภายใต้การนำของ พลเอก ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา โดยนำเอา MOU เมื่อปี 2544 มาเจรจากันใหม่อีกครั้ง เพื่อหาแนวทางร่วมกันพัฒนาพื้นที่ OCA ใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติ ชดเชยก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในแหล่งที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตลดลง ซึ่งหากมีการร่วมกันพัฒนาก็จะเป็นการตอบโจทย์ความมั่นคงด้านพลังงานไทยในอนาคตได้อีกด้วย
ทั้งนี้ล่าสุด นายทักษิณ ชินวัตร อดีนายกรัฐมนตรี ได้แสดงวิสัยทัศน์บนเวที Nation TV Dinner Talk – Vision for Thailand 2024 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 โดยช่วงหนึ่งได้ระบุถึงพื้นที่ OCA ว่า เขตทับซ้อนทางทะเล ความจริงไม่ใช่เป็นเรื่องเขตแดน เขตทับซ้อนถ้าหากมีทรัพยากรอยู่ก็นำมาแบ่งกันคนละ 50% เหมือนกับสิ่งที่รัฐบาลไทยเคยร่วมกับรัฐบาลมาเลเซียในโครงการพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA)
โดยพื้นที่ OCA รัฐบาลควรจะต้องเร่งดำเนินการเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อพัฒนาพื้นที่ร่วมกันนำเอาก๊าซธรรมชาติ น้ำมันมาใช้ เนื่องจากในระยะเวลาไม่เกิน 20 ปี คนจะไม่ใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิลแล้วหันไปพึ่งพาพลังงานสีเขียวมากขึ้นก็เท่ากับว่าทิ้งทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ใต้ดินไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นจะต้องเร่งดำเนินการเจรจา
ทั้งนี้การนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์นั้นตนกำลังแนะให้รัฐบาลไปศึกษาว่าประเทศนอร์เวย์ เขาทำอย่างไรที่เอาทรัพยากรธรรมชาติแบ่งผลประโยชน์ให้กับประชาชนทั้งประเทศก็ให้ศึกษาอยู่ว่าเป็นไปได้หรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันพลังงานที่ผลิตเองมันจะช่วยชดเชยการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศที่มีราคาแพงได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็จะทำให้ประชาชนได้ใช้แก๊สหุ่งต้ม น้ำมันที่ถูกลง
ปตท.พร้อมสนับสนุนรัฐบาลทุกด้านพัฒนา OCA
อย่างไรก็ตามการแสดงวิสัยทัศน์ของนายทักษิณ ในเรื่องพื้นที่ OCA ดูจะไปสอดรับกับ นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่ได้แถลงแผนกลยุทธ์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 โดย 1 ในแผนกลยุทธ์การดำเนินงานของปตท. นั้นให้ความสำคัญของธุรกิจ Upstream and Power จะต้องเร่งขยายแหล่งสำรวจและผลิต ร่วมกับ Partner มีต้นทุนที่แข่งขันได้ รวมถึงการผลักดันการพัฒนาพื้นที่ OCA เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
โดย นายคงกระพัน ระบุว่า พื้นที่ OCA นั้นปตท.มีความสนใจที่เข้าไปลงทุนพัฒนา ซึ่งเชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่มีก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันอยู่จำนวนมาก วิธีการจะให้เกิดการลงทุนพัฒนาพื้นที่ก็ต้องช่วยรัฐบาลในทุกด้าน เพื่อผลักดันให้มีการลงทุนพัฒนาในพื้นที่ OCA
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากลุ่มปตท. เคยดำเนินการพัฒนาพื้นที่ในลักษณะคล้ายๆ กับพื้นที่ OCA มาแล้ว โดยการร่วมลงทุนพัฒนากับประเทศมาเลเซีย ในโครงการ JDA เป็นพื้นที่ใต้ทะเลบริเวณไหล่ทวีประหว่างประเทศไทยและมาเลเซียในบริเวณอ่าวไทย ดังนั้นในการลงทุนพัฒนาพื้นที่ OCA จะให้เกิดผลสำเร็จอาจจะต้องเจรจากันเฉพาะเรื่องการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันมาแบ่งกันให้ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศ ปตท.คงต้องช่วยรัฐบาลทุกเรื่อง ผลักดันร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้สามารถมีการพัฒนาในพื้นที่ OCA ได้
อนึ่งในเขตพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อน OCA ระหว่าง ไทย-กัมพูชา ในอ่าวไทยครอบคลุมพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร จากการศึกษาทางธรณีวิทยา และเชิงเทคนิคโครงสร้างในพื้นที่ตรงนี้ยืนยันได้ว่ายังมีศักยภาพทางปิโตรเลียมสูงเพราะอยู่ในแอ่งปัตตานีเช่นเดียวกับแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ของไทย