“นายกไทย-ลาว” วางศิลาฤกษ์สร้างสะพานมิตรภาพบึงกาฬ-บอลิคำไซ ก้าวหน้า 57%

ผู้ชมทั้งหมด 1,129 

“นายกไทย-ลาว” วางศิลาฤกษ์สร้างสะพานมิตรภาพบึงกาฬ-บอลิคำไซ ก้าวหน้า 57% พร้อมเปิดให้บริการประชาชน2ประเทศปี 67 กระตุ้นเศรษฐกิจ  สร้างงาน สร้างรายได้เชื่อมสัมพันธ์ยั่งยืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ณ โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) จังหวัดบึงกาฬ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย และ นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) โดยมีนายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ข้าราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน เข้าร่วม

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า พิธีวางศิลาฤกษ์โครงการฯ ครั้งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพเหมือนดังชื่อของสะพานและเป็นความภาคภูมิใจของทั้งสองประเทศที่ได้ร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน โครงการนี้ยังถือเป็นแบบอย่างของความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายหลังจากที่ไทยและ สปป. ลาวได้เปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ด้วยการยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญให้ทั้งสองประเทศก้าวไปข้างหน้าและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทั้งสองฝ่าย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยถือว่าสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 เป็นโครงการยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการเชื่อมต่อกับ สปป.ลาว และภูมิภาค อีกทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ สปป. ลาว ที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของภูมิภาค สะพานแห่งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนไปมาหาสู่กันง่ายขึ้น และช่วยเพิ่มทางเลือกในการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับ สปป. ลาว นอกจากนี้ ยังจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคระหว่างไทย – ลาว -เวียดนามบนเส้นทางหมายเลข  และสามารถเชื่อมต่อไปยังจีนได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะทำให้การค้าขายภายในภูมิภาคคล่องตัวและเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามการก่อสร้างสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 5 เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่สำคัญที่ไทยและ สปป. ลาว กำลังเร่งฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างกันอย่างเต็มที่อีกครั้งหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง โดยสะพานแห่งนี้จะช่วยรองรับปริมาณการค้าระหว่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทยและตอนกลางของ สปป.ลาว โดยเฉพาะระหว่างจังหวัดบึงกาฬและแขวงบอลิคำไซ ซึ่งก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยและ สปป. ลาวเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นมากยิ่งขึ้น และทำให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่และการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในทั้งสองฝั่ง ทั้งนี้ รัฐบาลไทยจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล สปป. ลาว ในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย – ลาวให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือที่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศ

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20  ปี ของรัฐบาล ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ทั้ง 4 มิติ (บก ราง น้ำ และอากาศ ให้เชื่อมโยงการเดินทางสู่ภูมิอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ด้วยระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาวแห่งที่ 5 บึงกาฬ – บอลิคำไซ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ซึ่งต่อมา คณะรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2562ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว และผู้แทนรัฐบาลทั้ง2ประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมทั้งได้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยการก่อสร้าง  จังหวัดบึงกาฬ เพื่อกำหนดขอบเขตงานก่อสร้าง

สำหรับโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงินก่อสร้าง 3,653,121,512 บาท ที่ร่วมลงทุนโดยรัฐบาลไทย 2,500,743,850 บาท และรัฐบาล สปป.ลาว 1,152,377,662 บาท แบ่งความรับผิดชอบการก่อสร้างจากกึ่งกลางสะพาน ปัจจุบันมีความคืบหน้าในภาพรวมทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวประมาณ 57%

โดยฝั่งไทยได้แบ่งก่อสร้างออกเป็น 3 ตอนดังนี้ ตอน 1 งานถนนฝั่งไทย มีที่ตั้งโครงการบน ทล.244 ระหว่าง กม. 0+000-9+400 ระยะทาง 9.400 กม. จ.บึงกาฬ ค่างาน  831,110,000 บาท เริ่มสัญญา 30 มิ.ย.63 สิ้นสุด 16 ธ.ค.65 บริษัทบัญชากิจจำกัดเป็นผู้รับจ้าง ผลงานคืบหน้า 71%

ส่วนตอน 2 งานถนนฝั่งไทย และด่านพรมแดนฝั่งไทย ที่ตั้งโครงการบน ทล.244 ระหว่าง กม.9+400-12+082.930 ระยะทาง 2.683 กม. จ.บึงกาฬ ค่างาน 883,110,000 บาท เริ่มสัญญา 25 ก.ย.63 สิ้นสุด 13 มี.ค.66 บริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัดเป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 64%

ตอน 3 งานสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย (รวมงานปรับปรุงสี่แยก ทล. 212 และลานอเนกประสงค์ใต้สะพาน) ระหว่าง กม.12+082.930-13+032.930 ค่างาน 786,523,850 บาท เริ่มสัญญา 24 พ.ย.63 สิ้นสุด 8 พ.ย.66 บริษัทนภาก่อสร้างจำกัดเป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 32%

ส่วนฝั่งลาวแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ตอน วงเงินรวม 1,152,377,662 บาท ได้แก่ ตอน 1 งานสะพานข้ามแม่น้ำโขง วงเงิน 379,197,662 บาท คืบหน้า 43% และ ตอน 2 งานอาคารด่านพรมแดน วงเงิน 773,180,000 บาท คืบหน้า 64% คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 67

โครงการนี้มีระยะทาง 16.34 กม. แบ่งเป็นถนนฝั่งไทยยาว 13.033 กม. และถนนฝั่งลาวยาว 3.307 กม. แนวเส้นทางเริ่มต้นที่ฝั่งไทย ช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 บนพื้นที่ ต.วิศิษฐ์ ต.ไคสี และ ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ มุ่งไปทางทิศตะวันตกเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3217 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านหนองนาแซง มุ่งหน้าไปยังทิศทางเดิมและตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3013 เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพรมแดนฝั่งไทย และยกข้ามทางหลวงหมายเลข 212 ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขง 200 เมตร    

จากนั้นจะข้ามแม่น้ำโขงผ่านจุดสลับทิศทางจราจร และด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว สิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 13 ลักษณะโครงการเป็นรูปแบบทางหลวง ถนนขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร ในเขตทาง 60 เมตร รูปแบบสะพานข้ามแม่นํ้าโขงเป็นแบบสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่อง มีไหล่ทางและทางเท้า ความยาวช่วงข้ามแม่นํ้าโขง 810 เมตร และทางลาดขึ้นลงสะพานทั้งสองฝั่ง รวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุม อยู่ทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และมีจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว  

นอกจากนี้ แนวคิดในการออกแบบโครงสร้างสะพานได้มีการนำ “แคน” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีท้องถิ่น มาใช้ในการกำหนดรูปแบบทางสถาปัตยกรรม สะท้อนให้เห็นถึงความสนุก รื่นเริง ความเป็นมิตรไมตรี ความคุ้นเคย และความเป็นกันเองในวัฒนธรรมของประเทศไทย และ สปป.ลาว ส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างสองประเทศ สร้างความเจริญทางด้านสังคม และเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้สะพานดังกล่าวยังมีระบบเฝ้าติดตามพฤติกรรมสะพาน เพื่อใช้สำหรับติดตามสภาพโครงสร้างของสะพานได้ตลอดเวลาผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้การตรวจสอบสะพานง่ายขึ้น ลดภาระการเข้าไปตรวจสอบด้วยคน และสามารถช่วยในการตัดสินใจในการเลือกมาตรการดำเนินการกับโครงสร้างสะพาน

โครงการแล้วเสร็จจะสร้างประโยชน์การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ ทั้งพื้นที่ จ.บึงกาฬ และ แขวงบอลิคำไซ ให้เป็นประตูการค้าที่สำคัญในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดจีนตอนใต้และเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคกลางของ สปป.ลาว สู่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อขนส่งทางทะเลไปยังภูมิภาคอื่นต่อไป

นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้านการขนส่ง ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS (แอ็ก-เม็กส์) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยง 5 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา-ไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม-กัมพูชาอีกด้วย