“บ้านปู” กางแผนขยายธุรกิจปี 2566 ลุยลงทุน “พลังงานสะอาด” และ “เอนเนอร์ยี่แพลตฟอร์ม”

ผู้ชมทั้งหมด 26,456 

เหลือเวลากว่า 2 เดือนเท่านั้น จะก้าวเข้าสู่ปีพุทธศักราชใหม่ (ปี2566) ถือเป็นปีที่สำคัญสำหรับ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ จะดำเนินธุรกิจครบ 40 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2526

ด้วยประสบการณ์ดำเนินธุรกิจทั้งในระดับประเทศและนานาชาติตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปัจจุบัน “บ้านปู” มีฐานะธุรกิจครอบคลุม 10 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริการ และเวียดนาม

ในปี 2566 ธุรกิจของ “บ้านปู” จะเติบโตและมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ด้วยการขับเคลื่อนธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ที่เน้นการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ควบคู่ไปกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้อย่างชาญฉลาด

สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “บ้านปู” ระบุว่า บ้านปู อยู่ระหว่างจัดทำแผนการลงทุนในปี 2566 คาดว่า จะสามารถเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เบื้องต้น คาดว่า จะใช้งบลงทุนสูงกว่าปี 2565 ที่ตั้งไว้ประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากในปี 2566 บริษัท ยังมีแนวทางขยายการลงทุน รองรับการเติบโตภายใต้ 3 เสาหลัก  ได้แก่ เสาหลักที่ 1 (Energy Resources) ที่เป็นการลงทุนในแหล่งพลังงานทั้งถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ เสาหลักที่ 2 (Energy Generation) ที่เป็นการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งพลังงานดั้งเดิม(Conventional) และพลังงานหมุนเวียน และเสาหลักที่ 3 (Energy Technology) ที่เป็นการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานสมัยใหม่

สำหรับปี 2566 บริษัท มีแผนจะขยายการธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ที่ทางกลุ่มบ้านปู ได้เข้าไปลงทุนเป็นระยะเวลาร่วม 7 ปีแล้วนับตั้งแต่เข้าไปเริ่มทำธุรกิจสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ เมื่อปี 2558 เป็นต้นมา โดยส่วนของ Energy Resources ยังมีโอกาสสร้างการเติบโตผ่าน การลงทุนของ บริษัท BKV Corporation (BKV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บ้านปูถือในสัดส่วน 96.12% โดยมีแผนจะดำเนินการจัดหาทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ หลังจาก BKV เป็นตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อสัดส่วนผละประโยชน์ในแหล่งก๊าซธรรมชาติและครอบคลุมถึงธุรกิจกลางน้ำ บริเวณแหล่งก๊าซฯบาร์เนตต์ ในสหรัฐ จากบริษัท XTO Energy,Inc.and Barnett Gathering LLC (XTO) บริษัทย่อยของ Exxon Mobil Corporation ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 25,125 ล้านบาท ในวันที่ 30 มิถุนายม 2565 โดยเป็นการใช้เงินกู้ 100% จากสถาบันการเงินในเอเชีย

ดังนั้น BKV จะมีอนาคตที่จะสามารถจัดหาแหล่งเงินทุนด้วยตัวเอง และก็มีทางเลือกที่จะขยายแหล่งก๊าซฯเพิ่มเติมได้ ซึ่งปัจจุบันก็ถือว่ามีฐานธุรกิจขนาดใหญ่ในรัสเท็กซัส เพราะมีหลุมผลิตก๊าซฯ ราว 7,500 หลุม โดยหลังจากซื้อ XTO มาร่วมกับการลงทุนในแหล่งบาร์เนตต์เดิม ก็จะทำให้เกิด Synergy มากขึ้นและเป็นอันดับ 1 ในเท็กซัส

ปี 2566  ก็มีโอกาสที่จะเข้าไปซื้อแหล่งก๊าซฯเพิ่มเติม แถวแหล่งบาร์เนตต์ แต่เรื่องไซส์ เงินลงทุนจะเป็นเท่าไหร่ คงต้องรอแผนปีหน้า เดือนก.พ.2566 ก็น่าจะมีตัวเลข ก็เป็นแผนงานที่จะขับเคลือนปีหน้า แต่จะทำจริงได้เท่าไหร่ คงต้องรอการจัดทำรายละเอียดอีกที”

โดยปัจจุบัน บ้านปู มีกำลังผลิตก๊าซฯ ในสหรัฐ รวมอยู่ที่ 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แบ่งเป็น แหล่งบาร์เนตต์ อยู่ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมาร์เซลลัส บริเวณรัฐเพนซิลเวเนีย อีก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่ง ในปีนี้(ปี2565) ธุรกิจ Energy Resources จะเป็นพระเอกที่สร้างรายได้ในสัดส่วนสูงให้กับ บ้านปู ทั้งแหล่งก๊าซฯในสหรัฐ และเหมืองถ่านหิน ในออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และจีน

อีกทั้ง BKV ยังดำเนินธุรกิจโดยยึดหลัก ESG ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตก๊าซฯ ที่พัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) โดยได้จับมือกับ บริษัท EnLink Midstream, LLC (EnLink) ผู้ให้บริการระบบกลางน้ำด้านพลังงาน (ระบบแยก อัดก๊าซ และท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ) รายใหญ่ในสหรัฐฯ นับเป็นการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซมีเทน (CH4) อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทั้งบ้านปู และ EnLink ได้ร่วมกันสัดส่วน 50: 50 เตรียมจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการพัฒนา เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ภายใต้งบลงทุนประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนไม่สูงนัก เพราะเป็นหลุมก๊าซฯ ขนาดเล็ก ที่จะเริ่มดำเนินการแหล่งบาร์เนตต์ก่อน คาดว่าเปิดดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ภายในปี 2566 และมีแผนที่จะขยายการลงทุนไปยังแหล่งก๊าซฯ ที่รัฐเพนซิลเวเนียต่อไป ซึ่งก็จะทำให้ BKV กลายเป็นบริษัท Green ที่ขับเคลื่อนสู่ ESG สังคมคาร์บอนต่ำ บริษัทแรกๆในสหรัฐก็ว่าได้

นอกจากนี้ ด้าน Energy Generation หลังจากบริษัทลูก บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือBPP เข้าลงทุนในบริษัท Temple Generation Intermediate Holdings II, LLC ผ่านบริษัทย่อย Temple Generation I, LLC หรือ “Temple I” ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาด 768 เมกะวัตต์ ที่ตั้งอยู่ในรัฐเทกซัส สหรัฐฯนั้น ปัจจุบัน อยู่ระหว่างต่อยอดการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งก็ดูความเป็นได้ในรัสเท็กซัสเพิ่มเติม เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะพิจารณารัฐอื่นไม่ได้

การทำดีลควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A) แหล่งก๊าซฯ แม้ราคาก๊าซฯจะสูง แต่ดีลเหล่านี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้จากกลยุทธ์การลงทุนของผู้ขาย รวมถึงดีลโรงไฟฟ้าก็เช่นกัน แม้ช่วงนี้โรงไฟฟ้าก๊าซฯจะทำกำไรได้ดี แต่เจ้าของโรงไฟฟ้าไม่ได้มีกำไรเท่ากับเจ้าของแหล่งก๊าซฯ และตลาดซื้อขายไฟฟ้าในสหรัฐ โครงสร้างก็แตกต่างจากประเทศไทย ไม่มีระบบ PPA แต่เป็นการซื้อขายผ่านตลาดล่วงหน้า ที่มีตลาดกลางรองรับการซื้อขายทั้งระยะสั้น และระยะกลางได้ ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเข้าไปทำเรื่องของ energy tradingได้ อีกทั้ง เจ้าของโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะกองทุนฯ ที่เข้าไปลงทุนและจำเป็นต้องขายออกเพื่อสร้างผลตอบแทน ฉะนั้น ก็มีโอกาสที่จะเข้าไปซื้อได้ ซึ่งในสหรัฐยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

รวมทั้ง เรื่อง Energy Generation ทางบริษัทลูก บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ก็มีโอกาสที่จะขยายการลงทุนพลังงานหมุนเวียน ทั้งโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ลอยน้ำ ที่ขณะนี้กำลังเข้าไปดูความเป็นไปได้ในการลงทุนด้วย

ส่วนออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ในส่วนของธุรกิจเหมืองถ่านหิน ยังเน้นการเติบโตในลักษณะ Organic Growth ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตถ่านหินอยู่ในระดับเดียวกับปีนี้(ปี2565) อยู่ที่ 40 ล้านตัน ขณะที่ราคาถ่านหินยังไปได้ดี มองว่า ราคาเฉลี่ยในปี 2566-2567 จะอยู่ที่ 200-250 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากปีนี้ ราคาเบนซ์มาร์ค อยู่ที่กว่า 300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งเป็นระดับราคาที่ยังสูง จากปัจจัยสงครามรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้พลังงานขาดแคลน ผู้ประกอบการที่เคยนำเข้าถ่านหินจากรัสเซีย ต้องหันไปพึ่งพาการนำเข้าถ่านหินจากประเทศในแถบเอเชียแทน ทำให้ออสเตรเลียและอินโดนีเซีย ยังเป็นผู้ส่งออกถ่านหิน เบอร์ 1 และ 2 อยู่ ประกอบการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง จะส่งผลให้เศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวและเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของออสเตรเลีย จะมีการลงทุนเพิ่มเติมด้านพลังงานหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันได้เข้าไปลงทุนเรื่องของโซลาร์ฟาร์มแล้ว 2 แห่ง กำลังผลิตรวม 167 เมกะวัตต์ และก็อยู่ระหว่างมองหาโอกาสขยายการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งจะเน้นในลักษณะของโครงการที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว รวมถึงก็มีในลักษณะของโครงการพัฒนาใหม่อยู่ด้วยซึ่งก็ตั้งอยู่ติดกับเหมืองถ่านหินของบริษัท คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างสักระยะ

ส่วนอินโดนีเซีย ยังไม่มีการลงทุนพลังงานหมุนเวียน แต่มีบริษัท PT.ITM Bhinneka Power หรือ IBP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปู ที่เข้าไปลงทุนเรื่องของโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก (Mini Hydropower) ซึ่งก็มองโอกาสทำดีล M&A โดยแต่ละโครงการจะมีขนาดไม่ใหญ่ ประมาณ 10-20 เมกะวัตต์ แต่มีหลายโครงการ รวมถึงยังมองหาพันธมิตรท้องถิ่นที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดการสร้างอีโคซิสเต็มโซลูชันด้วย โครงการลักษณะนี้ถ้าเกิดขึ้นได้ จะมีขนาดใหญ่กว่า ธุรกิจบ้านปู เน็กซ์ ที่ดำเนินการในประเทศไทย เพราะอินโดนีเซีย มีขนาดประชากรถึง 260 ล้านคน มากกว่าประเทศไทย

ด้านญี่ปุ่น ก็จะเติบโตเหมือนเดิม ที่จะเป็นการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม เช่นเดียวกับเวียดนาม ที่จะเดินหน้าการลงทุนโซลาร์ฟาร์ม และพลังงานลม

ขณะที่มองโกเลีย อยู่ระหว่างการจัดทำโครงการนำร่อง (Pilot Project) ศึกษาจัดตั้งโรงงานแปลงถ่านหินเป็นปิโตรเคมี เช่น น้ำมันดีเซล คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า(ปี2566) หลังจากทดสอบเทคโนโลยีของแคนาดาผ่านแล้ว ซึ่งจะผลิตเป็นน้ำมันดีเซล ขายในตลาดมองโกเลีย เพื่อรองรับการขาดแคลนน้ำมัน โดยโครงการนำร่องจะมีขนาดไม่ใหญ่นักเพื่อทดสอบตลาดก่อน

ส่วนจีน ธุรกิจเหมืองถ่านหินยังไปได้ดี แต่จะไม่มีการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม(ถ่านหิน) คงไม่ขยายการลงทุนเพิ่มเติม แต่จะเดินหน้าพัฒนาโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) ขนาดกำลังการผลิต 1,320 เมกะวัตต์ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเช่นเดียวกับ โรงไฟฟ้าหงสา ในลาว และโรงไฟฟ้า BLCP ในไทย ขณะที่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (CHP) ทั้ง 3 แห่ง ตอนนี้เป็น Go Green ซึ่งที่ เจิ้งติ้ง มีคุยกับรัฐบาลเพิ่มเติมที่จะทำเหมือนลักษณะการลงทุนของ บ้านปู เน็กซ์ เช่น เรื่องของโซลาร์รูฟท็อป รวมถึงที่เหอเป่ ด้วย ก็มีโอกาสเพิ่มเติมการลงทุนในส่วนนี้ ตลอดจนเรื่องของโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ลอยน้ำด้วย

ขณะที่ลาว โครงการโรงไฟฟ้าหงสา (HPC) ถือป็นพระเอกที่ส่งไฟฟ้าขายให้กับไทย ในราคาเพียง 2.3 บาทต่อหน่วย และที่ผ่านมารัฐบาล เรียกรับไฟฟ้าเข้าระบบสูงถึง 99% เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้า BLCP ในไทย เพื่อรับมือกับต้นทุนผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ก๊าซฯมีราคาแพง ซึ่งโรงไฟฟ้าหงสา ยังคงเดินเครื่องการผลิตต่อไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ และยังไม่มีแผนซ่อมบำรุงใหญ่ในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม แผนการลงทุนในไทย บริษัท ยังคงมองหาโอกาสขยายการลงทุนในธุรกิจ Energy Generation และ Energy Technology ที่เป็นลักษณะเอนเนอร์ยี่แพลฟอร์มเพิ่มเติม ซึ่งก็รอความชัดเจนตามนโยบายภาครัฐ

สมฤดี มองว่า แนวโน้มผลประกอบการในปี 2566 ยังเติบโตต่อเนื่อง ตามทิศทางราคาถ่านหินที่อยู่ในระดับสูงราว 200-250 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แม้ว่าราคาพลังงานในปีหน้าจะอ่อนตัวลงจากปีนี้ แต่จะมีการเติบโตจากการสร้าง Growth ที่กลุ่มบ้านปู เข้าไปดำเนินการเรื่องของGreen มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยยังคงเป้าหมายการมี EBITDA จากธุรกิจพลังงาน ที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงานในสัดส่วนมากกว่า 50% ภายในปี 2568 จากปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 40%

อีกทั้ง บริษัท ยังมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง แม้ว่าในปีหน้า ดอกเบี้ยจะเป็นทิศทางขาขึ้น แต่บริษัท ได้จัดทำอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate) ไว้แล้วประมาณ 80% ก็เป็นลักษณะการออกหุ้นกู้ และปีหน้า ก็มีโอกาสที่บ้านปู และบ้านปู เพาเวอร์ จะดำเนินการได้อีก หลังจากปีนี้ ได้มีการเพิ่มทุน แปลงวอร์แรนต์ ไปแล้วและปีหน้ายังดำเนินการได้อีก  7.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้ามาอีก 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฉะนั้น หากพิจารณาจากกระแสเงินสดของบริษัท ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งธุรกิจไฟฟ้าก๊าซฯ ถ่านหิน ก็มีกระแสเงินสดเข้ามาต่อเนื่อง โดยช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว และจะเข้ามาเพิ่มเติมอีกในช่วง 2 ไตรมาสที่เหลืองของปีนี้