ผู้ชมทั้งหมด 1,278
แนวความคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่เป็นเพียงแค่กระแสช่วงหนึ่งแล้วผ่านไป แต่เป็นทิศทางที่ทั้งโลกให้ความสำคัญและพยายามจะทำให้เกิดขึ้นจริง เมื่อโลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การบริโภค การจัดการทรัพยากร การลดต้นทุน ความเหลื่อมล้ำ ความปลอดภัย คุณภาพชีวิต ไปจนถึงกระบวนการบริหารจัดการในภาคธุรกิจ แนวทางการพัฒนาขององค์กรภาคธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลัก ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่ให้ความสำคัญกับทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น จึงมีนัยสำคัญและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อโลกในการช่วยผลักดันประเด็นและแก้ไขปัญหาต่างๆ ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจโลกให้รุดหน้า
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน ด้วยกลยุทธ์ Greener & Smarter มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืนตั้งแต่เริ่มเข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2559 ดังนั้น การเดินบนเส้นทางความยั่งยืนตามหลัก ESG ของ BPP จึงเป็นแนวทางที่ทั้งองค์กรยึดถือและปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องครบในทุกมิติ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่เป็นหมุดหมายร่วมกันของคนทั้งโลก
“การสร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน (SDG ข้อ 7) นั้น เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานโดยตรง BPP จึงตั้งเป้าผลิตพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยหนึ่งในกลยุทธ์ทางธุรกิจของเราคือ การผลักดันการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อตอบรับกับเทรนด์พลังงานแห่งโลกอนาคต นอกจากนี้ BPP ยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อพลังงานสะอาด (SDG ข้อ 9) การผลิตที่ยั่งยืน (SDG ข้อ 12) และการรับมือกับสภาพภูมิอากาศ (SDG ข้อ 13)
โดยเราเน้นลงทุนในโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีชั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยมลสาร นับเป็นการปูทางสู่เป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นภาพใหญ่ของบริษัทแม่และบริษัทลูกในกลุ่มบ้านปู พร้อมกันนี้ BPP ยังให้ความสำคัญกับ SDG ข้อ 8 (การจ้างงานเต็มที่ และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน) และข้อ 16 (ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม) ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับบุคลากรผู้ทำหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีการปกป้องสิทธิแรงงาน มีสภาพการทำงานที่ดี ป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงและการเจ็บป่วยจากการทำงาน สามารถทำงานที่มีคุณค่าและเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย”
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ กล่าวว่า “เราใช้หลักการดำเนินงานด้านความยั่งยืนแบบเดียวกันนี้ในทุกๆ ประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ ทั้งประเทศไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา โดยคำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ และมาตรฐานต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ นอกจากภาพใหญ่ในระดับองค์กรแล้ว เรายังมีการบริหารความยั่งยืนให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วย”
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความยั่งยืนทางพลังงานในการส่งมอบพลังงานได้อย่างต่อเนื่องและประเด็นสิ่งแวดล้อมนั้น มีความเชื่อมโยงกันและมีความสำคัญกับธุรกิจผลิตพลังงานเป็นอย่างมาก BPP จึงมุ่งขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีคุณภาพ (Quality Megawatt) ด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจ จากทั้งพลังงานความร้อน (Thermal Power Business) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน BPP มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนจากพลังงานหมุนเวียนรวม 403 เมกะวัตต์ ในประเทศยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พร้อมขยายการเติบโตของธุรกิจผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานผ่านการลงทุนของ บ้านปู เน็กซ์ รวมถึงมีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีในการผลิตขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) อย่างเช่นโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งใช้เทคโนโลยี Integrated Gasification Combined Cycle หรือ IGCC ในการแปลงสถานะถ่านหินให้กลายเป็นก๊าซเชื้อเพลิงร่วมกับพลังงานความร้อน ทำให้ระบบเผาไหม้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีส่วนช่วยลด CO2 ลงถึงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน
รวมถึงมีการนำเถ้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตไปใช้ประโยชน์ต่อในอุตสาหกรรมก่อสร้างด้วย อีกโรงไฟฟ้าสำคัญคือ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เทคโนโลยี Combined Cycled Gas Turbines หรือ CCGT ที่ผสมผสานกระบวนการทำงานของ Gas Turbine (กังหันก๊าซ) กับ Steam Turbine (กังหันไอน้ำ) เข้าไว้ด้วยกัน พร้อมกับมีระบบการจัดการน้ำทิ้งจนเกือบเป็นศูนย์ นับเป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและเหมาะกับสภาพการแข่งขันในตลาด Electric Reliability Council of Texas (ERCOT) ที่มีการซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี การเข้าลงทุนและดำเนินงานในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ตามที่กล่าวมาของ BPP นอกจากจะช่วยให้การเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถส่งมอบพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังส่งผลชัดเจนเรื่องการลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามกฎระเบียบและข้อบังคับของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ BPP ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในการดำเนินธุรกิจด้วย
การดำเนินธุรกิจตามหลักความยั่งยืนนั้นมีมิติที่เกี่ยวข้องกับผู้คนหรือสังคม (Social) ซึ่งเป็นอีกมิติที่ BPP ให้ความสำคัญในการดูแลครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียภายในไปจนถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียภายนอก เริ่มจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียภายในซึ่งก็คือพนักงาน ที่จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม รวมถึงได้รับการดูแลด้านสภาพแวดล้อมการทำงานและสุขภาพ ยิ่งไปกว่านั้น BPP ยังเชื่อมโยงพนักงานที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมใน 8 ประเทศที่ BPP ดำเนินธุรกิจอยู่เข้าด้วยกันด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งอย่าง Banpu Heart (บ้านปู ฮาร์ท) ด้วย เมื่อผนวกรวมกับการจัดทำแผนพัฒนาความสามารถของบุคลากรเพื่อตอบสนองต่อทักษะใหม่ที่จำเป็นและสอดรับกับทิศทางธุรกิจแห่งโลกอนาคต การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ รวมถึงการวางแผนการสืบทอดตำแหน่งเพื่อให้เกิดความชัดเจนและต่อเนื่องในการบริหารองค์กร ทั้งหมดที่กล่าวไปล้วนมีส่วนช่วยดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเข้ามาสร้างการเติบโตให้กับองค์กรร่วมกัน
สำหรับการดูแลกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียภายนอก อันได้แก่ พันธมิตรทางธุรกิจ ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยแนวคิดการเป็นพลเมืองดีในทุกๆ ประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ ทำให้ BPP บริษัทย่อยต่างๆ รวมถึงบริษัทที่เป็นกิจการร่วมค้า มีการบริหารความสัมพันธ์กับหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียภายนอกอย่างต่อเนื่อง BPP มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าโดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่เป็นสำคัญ อย่างเช่นการดำเนินโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมในประเทศจีนที่มีส่วนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มเยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ไปจนถึงกลุ่มคนเปราะบางในสังคม การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาสาธารณภัยให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึงการดูแลคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ที่รัฐบาลจัดสรรให้เมื่อครั้งเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้า HPC ในประเทศลาว ก็สะท้อนออกมาในรูปแบบของแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมอย่างรอบด้าน ครอบคลุมการสร้างสาธารณูปโภคที่จำเป็น เช่น สถานีอนามัย โรงเรียน ระบบไฟฟ้า การส่งเสริมสุขภาพเชิงบวก ไปจนถึงการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและสนับสนุนการจ้างงาน ซึ่งล้วนคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพและความเหมาะสมกับวัฒนธรรม วิถีชีวิต และ ขนบธรรมเนียมเดิมที่ชุมชนยึดถือ ทำให้ภาพของการให้ความสำคัญในมิติทางสังคมของ BPP แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากขึ้น
สุดท้ายเพื่อให้ BPP บรรลุเป้าหมายการส่งมอบพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน การบริหารจัดการภายในที่ดีเพื่อให้การดำเนินงานส่วนต่างๆ มีประสิทธิภาพ เป็นไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง การบริหารจัดการภายในในภาพรวมของทั้งองค์กรนั้น กรรมการอิสระจำนวน 5 ท่าน จากคณะกรรมการรวมทั้งหมด 10 ท่านของ BPP จะทำหน้าที่สนับสนุนนโยบายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น หรือคัดค้านเมื่อเกิดการตัดสินใจที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น การทำหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระจึงทำให้การบริหารจัดการส่วนธุรกิจต่างๆ เกิดประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทเป็นสำคัญ นอกจากนี้ BPP ยังมีช่องทางรับข้อร้องเรียนและให้ความคุ้มครองผู้ร้องเรียนเพื่อป้องกันการทุจริต และมีแนวปฏิบัติเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจที่ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร กำหนดเป็นแนวปฏิบัติครอบคลุมทุกระดับในองค์กร ส่งเสริมให้เกิดเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อให้มั่นใจว่า BPP มีการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
บทพิสูจน์จากผลสำรวจความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กรในปี 2564 พบว่าในภาพรวมกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียร้อยละ 97.56 ให้คะแนนความพึงพอใจอยู่ในระดับดีมาก และอีกร้อยละ 2.44 ให้คะแนนความพึงพอใจอยู่ในระดับดี ซึ่งนับเป็นเสียงสะท้อนที่น่าภาคภูมิใจ และเมื่อไม่นานมานี้ BPP ยังได้รับรางวัล SET Sustainability Excellence Award (Commended Sustainability Awards) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากงาน SET Awards และได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment : THSI) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และยังได้รับการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนจากองค์กรชั้นนำระดับโลกอย่าง S&P Global ตั้งแต่ต้นปี 2565 ในระดับสูงมาก (Very High) เทียบเท่าสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ซึ่งเป็นดัชนีที่เป็นที่ยอมรับจากนักลงทุนนานาชาติ และได้รับคัดเลือกให้อยู่ใน Sustainability Yearbook 2022 ที่ยืนยันถึงความสำเร็จและการเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค
“BPP ดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบ ESG ในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม เรามีแนวทางปฏิบัติและมีการวัดผลที่ชัดเจน การเข้ารับการประเมินจากองค์กรต่างๆ และรางวัลที่ได้รับ นอกจากจะเป็นเครื่องการันตีถึงสิ่งที่เราทำแล้วนั้น ยังเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย” นายกิรณ กล่าวเสริม
เส้นทางดำเนินธุรกิจบนแนวทางความยั่งยืนของ BPP ยังคงสืบเนื่องไป เพื่อผลิตไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน ไม่เฉพาะเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจหรือสร้างมูลค่าให้กับนักลงทุน แต่รวมถึงการตอบแทนคืนกลับสู่สังคมและการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้บริโภค ชุมชน และกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นๆ เช่นกัน