ปตท. ฉายภาพธุรกิจครึ่งหลังปี 2567 มั่นใจผลงานโตต่อเนื่อง

ผู้ชมทั้งหมด 404 

การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 แม้จะไม่หวีหวา แต่ยังมีอัตราการเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ประกอบกับทิศทางราคาน้ำมันดิบ ที่ยังทรงตัวในระดับสูง ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนการดำเนินงานของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ให้มีผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2567 มีกำไรสุทธิจำนวน 64,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,475 ล้านบาท หรือ 34.4% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2566

โดยปัจจัยหลักจากผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยจากธุรกิจการกลั่นที่มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จากกำไรสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจปิโตรเคมีมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยปรับลดลง ประกอบกับมีการรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนและการจำหน่ายสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ขณะที่มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. มุ่งสู่การเติบโตขององค์กรระดับโลกอย่างยั่งยืน โดยเป็นกำไรจากธุรกิจ Hydrocarbon 92% และธุรกิจ Non-Hydrocarbon  8%

ส่วนภาพรวมทิศทางทางการลงทุนในปี 2567 ปตท. ได้ประเมินปัจจัยแวดล้อมต่างๆ พบว่า ทิศทางเศรษฐกิจตามคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ(GDP)โลก จะอยู่ที่ 3.2% และ GDP ไทย อยู่ที่ 2.9% ตามการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้จะกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะช่วยให้ภาคการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้อง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐจะเพิ่มขึ้นจากงบประมาณประจำปี 2567 และการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจากโครงการดิจิตัลวอลเล็ต อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว และการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้า รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองจะเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจ

ส่วนราคาผลิตภัณฑ์ ในส่วนของราคาก๊าซธรรมชาติ คาดว่า ปีนี้จะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบจากปีก่อน โดยราคา spot LNG JKM ลดลง 7% จะส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตก๊าซฯ ซึ่งปัจจัยที่ส่งให้ราคาก๊าซฯลดลง มาจากความต้องการใช้(ดีมานด์)ในยุโรปที่ปรับลดลง ตามการขยายเวลามาตรการลดการใช้ก๊าซฯ ลง 15% ไปสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2568 รวมถึงปริมาณสำรองก๊าซฯในยุโรปและเอเชีย อยู่ในระดับสูง โดยดีมานด์ในเอเชียที่เพิ่มขึ้นเกิดจากความต้องการใช้ก๊าซฯในฤดูร้อน อย่างไรก็ตามจากสภาพอากาศที่กำลังจะเปลี่ยนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ(ร้อนจัด)ไปสู่ลานีญา(หนาวจัด) ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลใช้ความต้องการใช้ LNG เพิ่มสูงขึ้น

ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1% อยู่ที่ระดับ 78-88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยหลักมาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ พายุเฮอริเคน รวมถึงซัพพลายที่ยังตึงตัวจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส ในส่วนของน้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 6% อยู่ที่ 71-81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามทิศทางของราคาน้ำมันดูไบ ขณะที่ค่าการกลั่น (GRM) ลดลง 24% อยู่ที่ 4.7-5.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมาจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์(สเปรด) ที่ปรับลดลงระหว่างแก๊สโซลีนกับแก๊สออยล์จากซัพพลายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ช่วงไตรมาส 3 จะเป็นช่วงฤดูกาลขับรถของสหรัฐ (US driving season) และไตรมาส 4 ที่เข้าสู่ฤดูหนาว คาดว่า สเปรดจะปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ปิโตรเคมี คาดว่าราคาจะทรงตัวจากปีก่อนในส่วนของเบนซีน

สำหรับทิศทางครึ่งหลังปี 2567 ธุรกิจในกลุ่ม Hydrocarbon & Power เริ่มจากกลุ่ม Upstream ในส่วนของธุรกิจสำรวจและผลิต(E&P) คาดว่า วอลุ่มจะเพิ่มขึ้นขณะที่สามารถรักษาต้นทุนการผลิตไว้ได้ ส่วนธุรกิจก๊าซฯ คาดว่า ต้นทุนจะปรับเพิ่มขึ้นจากมาตรการ Single Pool Price และมาร์จิ้นลดลงเล็กน้อยแต่ในส่วนของดีมานด์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา รวมถึงกำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยที่เพิ่มขึ้น น่าจะส่งผลดีต่อโรงแยกก๊าซฯ อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามราคา Pool Gas ด้วย

ส่วนของกลุ่ม Downstream คาดว่า ธุรกิจน้ำมัน จะรักษาระดับมาร์จิ้นไว้ได้แต่วอลุ่มจะอ่อนตัวลงเล็กน้อย ส่วนธุรกิจP&R ในส่วนของโรงกลั่นฯ คาดว่า มาร์จิ้นจะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่า สเปรดจะดีขึ้นจากฤดูการขับขี่ในสหรัฐและสภาพอากาศที่เข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี ราคาผลิตภัณฑ์ยังทรงตัว ซึ่งในส่วนของสเปรดยังท้าทาย แต่หวังว่าดีมานด์ครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวขึ้นมาบ้างจากทางจีน และการ Restock เพื่อรับความต้องการใช้ช่วงเทศกาลต่างๆในปลายปี ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้า คาดว่าดีมานด์จะเพิ่มขึ้นขณะที่ต้นทุนลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ส่วนธุรกิจในกลุ่ม Non – Hydrocarbon ในส่วนของธุรกิจ EV value chain พบว่า ดีมานด์ในประเทศไทยปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามตลาดEV มีการแข่งขันสูงจากรถจีนที่เข้ามากดดันตลาด ส่วนธุรกิจ Life science วอลุ่มจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากยอดการจำหน่ายยายังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

นายธนพล ประภาพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายผู้ลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ ปตท. ในไตรมาส 3 และครึ่งหลังปี 2567 ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยขับเคลื่อนจากราคาพลังงานและปริมาณการจำหน่าย ซึ่งหากดูจากธุรกิจE&P ปริมาณการจำหน่ายครึ่งปีหลัง คาดว่าจะดีขึ้นจากการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯของแหล่งเอราวัณ(G1/61) ขณะที่ ราคา spot LNG ครึ่งปีหลังจะปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนโรงแยกก๊าซฯปรับเพิ่มขึ้นได้ ส่วนธุรกิจP&R คาดว่า สเปรดจะดีขึ้นจากเทศกาลต่างๆในช่วงปลายปี ด้านธุรกิจน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังจะเข้าสู่เทศกาลต่างๆที่ส่งผลให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย จะเป็นส่วนสนับสนุนยอดขายในครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรก

สำหรับกรณีการลดสัดส่วนการลงทุนใน IRPC ,TOP และ PTTGC นั้น ยังอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่ง ปตท.จะมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อหาวิธีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ กลุ่มธุรกิจ Hydrocarbon ของ ปตท. ไม่ได้จำกัดเฉพาะธุรกิจ P&R รวมถึงธุรกิจอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Upstream ธุรกิจก๊าซธรรมชาติต่างๆ ซึ่ง ปตท.ยังคงนโยบายถือหุ้นในบริษัท flagship ต่างๆในสัดส่วนที่ ปตท.ควบคุมได้ เพื่อสามารถกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่ม ปตท.ต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น