ผู้บริหารบางจากฯ หนุนโครงการการนำการพัฒนาตามแนวพระราชดำริระดับกลาง สำนักงาน กปร. ประจำปี 2567

ผู้ชมทั้งหมด 648 

นางกลอยตา ณ ถลาง รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “กลุ่มบริษัทบางจาก: สมดุลเพื่อโลกยั่งยืนผ่าน ESG” ให้กับผู้เข้ารับการอบรมโครงการการนำการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ระดับกลาง สำนักงานคณะกรรมพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จัดโดยสถาบันอนุชิตพิพรรธน์ สำนักงาน กปร. โดยมีนางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. ให้การต้อนรับและร่วมรับฟังการบรรยาย เมื่อเร็วๆ นี้

นางกลอยตา กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลต่างๆ ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในการทำธุรกิจของบางจากฯ ไม่ว่าจะเป็นสมดุลระหว่างมูลค่าในการดำเนินธุรกิจและคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมและสังคม สมดุลใน 3 ปัจจัยหลักของการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนคือ สร้างผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ใส่ใจรับผิดชอบสังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) และสมดุลระหว่างความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ (Energy Trilemma) ได้แก่ความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security) การเข้าถึงพลังงาน (Energy Affordability) และความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) โดยบางจากฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในการบริหารองค์กร ยึดมั่นในหลักของทางสายกลางและความไม่ประมาท และให้ความสำคัญกับหลักความพอประมาณ ความมีเหตุผลและการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว โดยมีความรู้และคุณธรรมเป็นเงื่อนไข

ขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) และคำนึงถึงความรับผิดชอบทั้ง 3 ด้านในการทำธุรกิจ (ESG) ทำให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและเป็นองค์กรที่สร้างคุณค่าและประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้เสียและสังคมอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ นางกลอยตา ยังกล่าวถึงการพัฒนาธุรกิจและปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยปรับเปลี่ยนจากผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและสถานีบริการในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ มาเป็นบริษัทชั้นนำด้านพลังงานที่มีธุรกิจอยู่ในหลายทวีปทั่วโลก ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำจนถึงธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต เป็นแนวคิดให้กับผู้เข้ารับการอบรมในมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการปฏิบัติภารกิจภายใต้พันธกิจที่ได้รับมอบหมายให้เกิดประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพสูงสุด ท่ามกลางสภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในปัจจุบัน