“พลังงาน” คาดศึกษาปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯเสร็จใน 9 เดือน

ผู้ชมทั้งหมด 3,562 

ก.พลังงาน มอบ สนพ.เดินหน้าจ้างที่ปรึกษาพิจารณารูปแบบปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ให้เสร็จภายใน 9 เดือน ชี้ ต้นทุนค่าไฟฟ้าปีนี้มีลุ้นถูกลง หลังราคาแอลเอ็นจีตลาดโลกปรับลดลง ขณะที่กำลังผลิตก๊าซฯแหล่งเอราวัณคาดว่า จะเพิ่มขึ้นตามแผน 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเม.ย.ปีนี้

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ความคืบหน้านโยบายปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายนั้น กระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษารูปแบบการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสม คาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน 9 เดือน หรือประมาณ ไตรมาส 3-4 ปีนี้  โดยจะพิจารณาผลกระทบให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งต้นทุนโดยค่าไฟฟ้า ผลกระทบต่อบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ซื้อก๊าซฯ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี เพื่อไม่ให้กระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศด้วย

ส่วนผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ เบื้องต้นต่อ ปตท.ที่มีการประมาณการในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.ปีนี้ จะกระทบต่อผลการดำเนินงานโดยรวมของธุรกิจก๊าซฯ ของ ปตท. ปรับลดลงประมาณ 6,500 ล้านบาทนั้น คาดว่า ผลกระทบจริงอาจลดลงได้ เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) นำเข้าระยะสั้น เหลืออยู่ที่ประมาณ 9.50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากเดิมคาดว่า อยู่ที่ประมาณ 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู 

อีกทั้ง ในช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้ หากการผลิตก๊าซฯจากโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) สามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นไปแตะ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ตามเป้าหมายที่ ปตท.สผ. แจ้งไว้ ก็อาจะทำให้ ประเทศไทยลดการพึ่งพาการนำเข้า LNG ในปีนี้ลง หรือไม่ถึง 90 ลำ ตามที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ก็จะช่วยให้ผลกระทบที่ส่งผ่านไปยัง ปตท.ลดลง

นอกจากนี้ ปตท. ยังวางแผนหามาตรการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับโครงสร้างก๊าซฯระยะสั้น เช่น การปรับแผนการเดินเครื่องของโรงแยกก๊าซฯ (Optimization) การเสนอแนวทางการจัดหา LNG เพื่อให้บรรลุเป้าหมายกรอบราคาค่าไฟฟ้าตามนโยบายภาครัฐ