“พลังงาน” ดันเปิดรับฟังความคิดเห็น 5 แผนพลังาน มิ.ย.นี้

ผู้ชมทั้งหมด 894 

สนพ.กางไทม์ไลน์ ดัน 5 แผนพลังงาน เข้าสู่การอนุมัติของครม. ภายใน ก.ย.นี้ เร่งเปิดรับฟังความคิดเห็นภายใน มิ.ย.นี้ ลุยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนผลิตไฟ 51% โซลาร์มากกว่า 2 หมื่นเมกะวัตต์ คุมค่าไฟเฉลี่ยไม่เกิน 4 บาทต่อหน่วย ขณะที่ ภาคใต้ ต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เสริมความมั่นคงไฟฟ้า   

กระทรวงพลังงาน ตั้งเป้าหมายเปิดรับฟังความเห็น 5  แผนพลังงาน ประกอบด้วย 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิ.ย.2567

ประเดิมสัปดาห์หน้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) มีกำหนดนำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 ( PDP 2024 ) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ( Gas Plan) เปิดเวทีรับฟังความเห็นในวันที่ 12 ม.ค. 2567  สำหรับภาครัฐและสื่อมวลชน  และวันที่ 13 มิ.ย. 2567 สำหรับเอกชนและผู้ประกอบการในเขต กทม. และปริมณฑล รวมถึงจะเปิดรับฟังความเห็นผ่านทางระบบออนไลน์ของเว็บไซต์ www.eppo.go.th และเฟสบุ๊ค EPPO Thailand ในวันที่ 17 มิ.ย. 2567 สำหรับภากลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และวันที่ 19 มิ.ย. 2567 สำหรับภาคใต้และภาคเหนือ

ขณะที่วันที่ 18 มิ.ย. 2567 จะเปิดรับฟังความเห็นแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ( AEDP) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil plan) จะเปิดรับฟังความเห็นปลายเดือน มิ.ย. 2567 โดยทั้ง 5 แผนดังกล่าว จะบรรลุรวมภายใต้แผนหลักคือ แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) , คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ย. 2567

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ร่างแผน PDP ฉบับใหม่ จะแตกต่างไปจากแผนเดิม การตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเป็น 51% จากแผนเดิมอยู่ที่ราว 36% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มากที่สุดถึง 30% ของพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด หรือ กว่า 20,000 เมกะวัตต์ จากประมาณการเบื้องต้นว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงปลายแผนในปี 2580 จะอยู่ที่ระดับ 55,000 – 56,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) อยู่ที่ราว 36,000 เมกะวัตต์  อีกทั้ง ในแผนPDP ฉบับใหม่ จะกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน คือ ลดลงราว 30-40% ในปี 2573 และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2593

นอกจากนี้ ยังกำหนดสัดส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ขนาด 600 เมกะวัตต์ และการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเข้าผสมกับก๊าซธรรมชาติ ในสัดส่วนราว 5% ด้วย 

รวมถึง ในแผน PDP ฉบับนี้ จะเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์โอกาสการเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) ต้องไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หรือ 17 ชั่วโมง จาก 8,760 ชั่วโมง มาแทนเกณฑ์กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin)

“ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า จะได้รับประโยชน์จากแผนPDP ฉบับใหม่ ที่มีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต และมีการจัดเตรียมโรงไฟฟ้าไว้รองรับเพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ และยังกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน รวมถึงลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ส่งผลต่อผู้ใช้ไฟน้อยที่สุด ซึ่งตลอดแผน PDP ฉบับนี้ จะพยายามรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยไม่ให้เกิน 4 บาทต่อหน่วย  จากแผนPDP เดิม ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย”

ทั้งนี้ ภายใต้แผน PDP ฉบับใหม่ เบื้องต้น ในส่วนของภาคใต้ จะต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น ประมาณ 2-3 แห่ง รวมถึงโรงไฟฟ้าจะนะ จะต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุด้วย เพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้

สำหรับแผนก๊าซธรรมชาติ เบื้องต้น คาดว่าปริมาณการใช้ก๊าซฯ จะไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากการใช้ก๊าซฯ สำหรับผลิตไฟฟ้าจะลดลง ซึ่งเกิดจากการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และการใช้ก๊าซฯ สำหรับยานยนต์ (NGV) ลดลง ขณะที่การใช้ก๊าซฯ ภาคอุตสาหกรรมเติบโตมากขึ้น เนื่องจากก๊าซฯ ถือเป็นพลังงานสะอาดที่ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น ส่วนโรงแยกก๊าซฯ ยังใช้ก๊าซฯ เท่าเดิม เนื่องจากไม่มีโรงแยกแห่งใหม่เกิดขึ้น ประกอบกับปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยมีแนวโน้มลดลง 

อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ( LNG) มาทดแทนความต้องการใช้ก๊าซฯ ที่เติบโตขึ้นในอนาคตด้วย แต่จะยังไม่มีการนำก๊าซฯจากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) มาประกอบในแผน PDP 2024 และแผนก๊าซฯ เนื่องจากปัจจุบัน ยังอยู่ระหว่างเจรจาฯ ซึ่งหากประสบความสำเร็จและนำไปสู่ขั้นตอนพัฒนาก๊าซฯขึ้นมาใช้ ก็ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี ฉะนั้น หากในอนาคตการเจรจาประสบความสำเร็จเร็วกว่า 10 ปี และสามารถนำก๊าซฯ มาใช้ได้จริง ก็สามารถปรับแผนฯ เข้ามาทดแทนในส่วนของการนำเข้า LNG ให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ก๊าซฯในอนาคตได้