“พลังงาน” เฟ้นหา “พันธมิตร” ผนึกลงทุน 7 ด้าน ฟื้นเศรษฐกิจปี65

ผู้ชมทั้งหมด 1,567 

โลกยุคปัจจุบันและในอนาคตต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว สงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เปิดกว้าง และมีทางเลือกหลากหลาย ภัยธรรมชาติ ตลอดจนการอุบัติขึ้นของเชื้อโรคใหม่ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กลายเป็นวิกฤติระดับโลกในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระดับประเทศ ดังนั้น การจะก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง จำเป็นที่ภาคธุรกิจ การค้าและการลงทุน ที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของแต่ละประเทศ จะต้องผนึกกำลังกับ “พันธมิตร” ในภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

ปี 2565 เป็นปีที่ กระทรวงพลังงาน ประกาศเป้าหมายชัดเจน ก้าวสู่ยุค Energy Transition ร่วมกับพันธมิตร” โดยในส่วนของ Energy Transition จะเป็นการปรับบทบาทขององค์กร ปลดล็อค กฎระเบียบ เพื่อรองรับภารกิจในอนาค อาทิ การปรับบทบาทเพื่อบริหารจัดการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า(EV Charging Station) ใหเป็นไปตามมาตรฐานและมีโครงสร้างราคาเหมาะสม การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติและ ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)

ส่วน พันธมิตร จะเปิดกว้างหาพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้เกิดการลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ๆเกิดขึ้นตามเป้าหมาย โดยร่วมกันกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมคิด ร่วมวางแผน และขับเคลื่อนการลงทุนไปด้วยกัน

ภายใต้ แผนการดำเนินงานปี 2565 ภายใต้มิติ “Collaboration for Change: C4C ก้าวสู่ยุคพลังงานสะอาด จับมือพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญคือ การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ตามแผนที่ประกาศในเวทีการประชุม COP26 ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมในเวทีโลก

สำหรับแผนการลงทุนธุรกิจพลังงานปี 2565 ที่จะสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยและเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนรอคอยความชัดเจนนั้น จะอยู่ภายใต้ 7 ด้านหลัก ได้แก่

1.ขับเคลื่อนการลงทุนโครงการประกอบกิจการปิโตรเลียม คาดว่า จะสร้างรายได้ให้ประเทศมูลค่ากว่า 44,300 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการลงทุนโครงการสำคัญที่ดำเนินการต่อเนื่องจากอดีต เช่น การลงทุนสำรวจปิโตรเลียมภายใต้ระบบใหม่ คือ ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ของแหล่งก๊าซฯขนาดใหญ่ในอ่าวไทย คือ แหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานเดิมลงในเดือนเม.ย.2565 ที่จะก่อสร้างการลงทุนขุดเจาะสำรวจและผลิตก๊าซฯเพิ่มเติม เพื่อรักษาอัตราการผลิตก๊าซฯตามเงื่อนไขPSC

ตลอดจนการหาจังหวะในปี 2565 เพื่อเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23 (รอบใหม่) จำนวน 3 แปลงบริเวณในอ่าวไทย ที่เดิมกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีแผนจะออกประกาศเชิญชวนตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 แต่ก็เลื่อนออกไปไม่มีกำหนด ซึ่งครั้งนี้ ประเมินว่าการเปิดประมูลฯรอบใหม่นี้ คาดหมายว่า จะก่อให้เกิดการลงทุนในการสำรวจขั้นต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท 

2.กำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันและสัดส่วนการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมและเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในระดับที่เหมาะสม ในส่วนนี้ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) เตรียมการทบทวนแผนรองรับวิกฤติน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ เนื่องจากเดิม(20 ตุลาคม 2563)ไม่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ฃ โดยจะนำตัวเลขด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องมาศึกษาทบทวนเพื่อกำหนดระดับราคาวิกฤตด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนทบทวนสถานการณ์ต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก เช่นที่ผ่านมามีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ปรับเพดานราคาดีเซล ที่ปัจจุบันกำหนดตรึงราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งในส่วนของผู้เชี่ยวชาญมองว่า ควรขยับราคาขึ้นจากเพดาน ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการ เช่น กลุ่มรถบรรทุก อยากเห็นราคาไม่เกิน 25 บาทต่อลิตร จึงต้องนำข้อมูลรอบด้านมาพิจารณากำหนดเพดานใหม่อีกครั้ง

รวมถึงการกำหนดผสมเชื้อเพลิงชีวภาพโดยเฉพาะสเปคของน้ำมันดีเซล เป็นต้น ขณะเดียวกันทาง สกนช. เอง ก็เตรียมจัดทำแผนลดการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ให้หยุดชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพภายใน 3 ปี (สิ้นสุดวันที่ 24 กันยายน2565) และสามารถขยายเวลาการลดการชดเชยได้ 2 ครั้งๆ ละ 2 ปี แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการลดการชดเชยให้คำนึงถึงเกษตรกร ทางสกนช. จึงต้องจัดทำแผนขอขยายการชดเชยโดยให้สอดคล้อง กับสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน และจะดำเนินการในจังหวะที่เหมาะสม คาดว่าแผนฯจะชัดเจนในต้นปี 2565

3.ส่งเสริมการลงทุนปิโตรเคมี ระยะ 4 ใน EEC กำหนดทิศทางการขยายการลงทุนปิโตรเคมีกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด เพื่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในปี 2565-2569 กว่า 2-3 แสนล้านบาท ส่วนนี้ กระทรวงพลังงาน ได้เลือกให้พื้นที่ขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นการลงทุนปิโตรเคมี ระยะที่ 4 หลังได้รับเรื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานนำเสนอ โดยขั้นตอนต่อไปจะทำงานร่วมกันคณะกรรมการEEC เพื่อกำหนดเป้าหมายและสิทธิประโยชน์ ดึงดูดการลงทุนรายอุตสาหกรรมที่จะมุ่นงเน้นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และปิโตรเคมีที่ทันสมัย เช่น เรื่องของไบโอฯต่างๆ หรือ ไบโอคอนเพล็กซ์ ให้ตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน(BCG) และสนับสนุนให้เกิดการสสร้าง S-Curve

4.ส่งเสริมลงทุนต่อเนื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน มูลค่ากว่า 143,000 ล้านบาท โดยหลักๆจะมุ่งเน้นการลงทุนที่รองรับโครงข่ายไฟฟ้า เช่น การขับเคลื่อน Grid Modernization สมาร์ทกริด รองรับการเข้าสู่ระบบของพลังงานหมุนเวียน และการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่างประเทศ รวมถึงการลงทุนกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น

5.เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ในอนาคต ซึ่งจะเร่งพัฒนาระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับการขยายตัว การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ขยายผลการลงทุนพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ โดยภาครัฐอยู่ระหว่างเตรียมตกผลึกมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้งานรถอีวี คาดว่า จะประกาศแพ็กเกจได้ในช่วงต้นปี 2565 ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นหนึ่งในแผนงานที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากที่จะดึงดูดการลงทุนต่างชาติ เพื่อให้ไทยรักษาฐานการผลิตและส่งออกในภูมิภาคไว้

6.ส่งเสริมและขยายผล การลงทุนพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่จะก่อให้เกิดการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย ตามการปรับ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ปรับปรุงใหม่ในช่วง 10 ปีแรก (2564-2573) ​ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2564 ซึ่งจะมีปริมาณรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบราว 1,230 เมกะวัตต์ โดยจะเข้าระบบตั้งแต่ปี 67-71 ปริมาณปีละ 200 เมกะวัตต์​ ส่วนปี 72 และ 73 ปีละ 250 เมกะวัตต์ ขณะที่ 2565 มีโครงการที่ลุ้นออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า เช่น โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 200 เมกะวัตต์ ,โซลาร์ภาคประชาชน ราว 10 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชุมชน เฟส 2 ซึ่งมีกรอบที่จะส่งเสริมการลงทุนได้อีก 400 เมกะวัตต์ ใน 10ปี เป็นต้น

และ 7.ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนผ่านกองทุนอนุรักษ์ฯปี 2565 วงเงินกว่า 1,800 ล้านบาท เพื่อกระจายเม็ดเงินลงทุนสู่ชุมชน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยจะเปิดให้แต่ละจังหวัดยื่นงบสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีพลังงานลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ปี 2565 กระทรวงพลังงาน พร้อมขับเคลื่อนทั้งบทบาทภารกิจหลัก และเป็นหนึ่งในฟันเฟืองการขับเคลื่อนระบบเศราฐกิจให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องรองรับการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างรากฐานเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคง ตลอดจน สร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมอย่างยั่งยืนเพื่อคนไทยทุกคนต่อไป

แผน C4C เป็นหัวใจสำคัญของภาคพลังงานในปีหน้า และเราจะไม่เดินคนเดียว แต่จะไปกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ที่จะรวมขับเคลื่อนการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เช่น IEA กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรที่พร้อมสนับสนุนเราเป็นต้น”