ผู้ชมทั้งหมด 637
กบน.ไฟเขียว ปรับลดราคาดีเซลลงครั้งที่3 อีก 50 สตางค์ต่อลิตร เหลือ 33.50 บาทต่อลิตร มีผล 24มี.ค.นี้ หวังลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ขณะที่สถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดติดลบต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เตรียมเดินหน้ากู้เงินเฟส 2 อีก 2 หมื่นล้านบาท กลางเดือนเม.ย.นี้ ชำระคืนหนี้ผู้ค้า ม.7
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566 มีมติให้ปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ลงเป็นครั้งที่ 3 อีก 50 สตางค์ต่อลิตร โดยมีผลวันที่ 24 มี.ค.2566 ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล หน้าสถานีบริการน้ำมัน จะอยู่ที่ 33.50 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ การปรับลดราคาดีเซลดังกล่าว เป็นไปตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยในตลาดโลกเดือนมี.ค.อยู่ที่ 102 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากราคาเฉลี่ยในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ประมาณกว่า 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทาง สกนช.จึงเสนอบอร์ด กบน.ให้พิจารณาปรับลดราคาดีเซล เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ประกอบกับ ทางคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติขยายระยะเวลาลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตร ออกไปถึงเดือน 20 ก.ค.2566 ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีสภาพคล่องดีขึ้น
ล่าสุด สถานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 12 มี.ค.2566 ติดลบต่ำกว่า ระดับ 1 แสนล้านบาท อยู่ที่ 99,662 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน ติดลบ อยู่ที่ 53,290 ล้านบาทและบัญชี LPG ติดลบ อยู่ที่ 46,372 ล้านบาท
“ตอนนี้ กองทุนฯ ทยอยเก็บเข้าเข้าเพื่อเสริมสภาพคล่อง และในจันทร์หน้า คาดว่า สถานะกองทุนจะติดลบต่ำกว่าระดับ 99,000 ล้านบาทได้ หลังจากในช่วง 1 สัปดาห์นี้ กองทุนมีเงินไหลเข้าเป็นบวก”
สำหรับความคืบหน้าแผนกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯ เดิม ครม.พิจารณาอนุมัติกรอบเงินกู้ อยู่ที่วงเงิน 150,000 ล้านบาท โดยจะต้องกู้ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งได้แบ่งการกู้เงินออกเป็น 2 เฟส เฟสแรก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) บรรจุไว้ 30,000 ล้านบาท ได้ดำเนินการกู้เงินเสร็จสิ้นแล้วในช่วงเดือนธ.ค.2565 และเฟสที่สอง เหลือกรอบวงเงิน 120,000 ล้านบาท แต่สถานะหนี้กองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด อยู่ที่ระดับ 99,662 ล้านบาท ซึ่งในช่วงที่ สบน.พิจารณากรอบเงินกู้นั้น ได้อนุมัติไว้ที่ 80,0000 ล้านบาท ฉะนั้นเมื่อรวมกับวงเงินกู้เดิม คาดว่าจะใช้เงินอยู่ที่ 110,000 ล้านบาท ครอบคลุมกับยอดหนี้ที่เหลืออยู่
อย่างไรก็ตาม ครม.ได้มอบหมายให้ กบน.ดำเนินการตามแผนการกู้เงินเพื่อบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอ บอร์ดกบน. อนุมัติให้สถาบันการเงินยื่นข้อเสนอการกู้เงินที่วงเงิน 20,000 ล้านบาท ในช่วงกลางเดือนเม.ย.นี้ เพื่อนำเงินไปชำระคืนหนี้ผู้ค้าม.7 ต่อไป แต่ทั้งนี้ การกู้เงินในเฟสที่สอง วงเงิน 80,000 ล้านบาทนั้น จะต้องดำเนินการเซ็นสัญญากับสถาบันการเงินให้เสร็จตามกรอบ 1 ปีที่ครม.กำหนดไว้ คือ ภายในเดือนก.ย.นี้
นายวิศักดิ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ล่าสุด ยังเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่ให้ตรึงราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ขณะที่ราคาLPG ตลาดโลกเฉลี่ยเดือนมี.ค.นี้ อ่อนตัวลงอยู่ที่ระดับกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยกองทุนน้ำมันฯ ยังใช้เงินเข้าไปชดเชยอยู่ที่ประมาณกว่า 8.88 บาทต่อกิโลกรัม หรือ ราคาที่แท้จริงควรอยู่ที่ประมาณ 453 บาทต่อถัง อย่างไรก็ตาม กอรบวงเงินในการชดเชยราคา LPG ที่อนุมัติไว้อยู่ที่ 48,000 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะเพียงพอในการตรึงราคา LPG ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ตามมติกบง.