“มนพร” เร่ง สบพ. ฟื้นวิกฤติรับอุตสาหกรรมการบิน หนุนไทยเป็นฮับการบินภูมิภาค

ผู้ชมทั้งหมด 241 

มนพร” เร่ง สบพ. ฟื้นวิกฤติรับอุตสาหกรรมการบิน หนุนไทยเป็นฮับการบินภูมิภาค ทุ่มงบกว่า 1.2 พันล้านบาท สร้างอาคารสถานที่- บุคลากร พร้อมฝึกนักบินใหม่ทั้งไทยและต่างชาติ

เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่อาคารศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบิน สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เขตจุตจักร กรุงเทพมหานคร นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของ สบพ.ว่า ขณะนี้ สบพ.ได้จัดทำแผนการดำเนินการพัฒนาศูนย์ฝึกการบินหัวหิน ให้ทันสมัยมีมาตรฐานสากล ระหว่างปี 68-72 ทั้งในด้านอาคารสถานที่ศูนย์ฝึกการบิน และสิ่งก่อสร้างประกอบพร้อมครุภัณฑ์ อากาศยานที่ใช้ฝึกบิน เครื่องช่วยฝึกบิน และการพัฒนาบุคลากรครูการบิน โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ (เฟส) วงเงินรวม 1,223.10 ล้านบาท โดยเริ่มจากการขอรับการจัดสรรงบประมาณในปี 68 สำหรับ เฟสที่ 1 วงเงิน 414.40 ล้านบาท ส่วน เฟสที่ 2 กรอบวงเงิน 410 ล้านบาท และเฟสที่ 3 กรอบวงเงิน 398.70 ล้านบาท นั้นจะทยอยเสนอของบประมาณดำเนินการต่อไป ทั้งนี้เพื่อรองรับการขยายตัวของ อุตสาหกรรมการบิน ตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub)

นางมนพร กล่าวว่า ตนได้เน้นย้ำ สบพ. ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมหลักสูตรด้านความปลอดภัย (Safety Management) ซึ่งเป็นหัวใจของการบิน และหลักสูตรด้านการบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ยึดมั่นในหลักการสำคัญ คือ “คุณภาพ” บุคลากรด้านการบินให้ตรงตามความต้องการของตลาดทางด้านอุตสาหกรรมการบิน ในทักษะที่สำคัญต่อการปฏิบัติงานด้านการบินที่ได้มาตรฐาน ทั้งในหลักสูตรการฝึกอบรม และหลักสูตรการศึกษาระดับต่าง ๆ มุ่งเน้นเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ของ สบพ. โดยปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสนับสนุนการจัดเรียนการสอน/การฝึกอบรม การให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) เร่งเสริมสร้างภาพลักษณ์การประชาสัมพันธ์ที่โดดเด่น เร่งการทำการตลาดเชิงรุก เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับ สบพ.

นอกจากนี้ให้ สบพ. พิจารณาใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเพิ่มพูนรายได้ และควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต และใช้ประโยชน์จากความร่วมมือกับพันธมิตร คู่ความร่วมมือ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์หรือสนับสนุนทางวิชาการในมิติต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง สร้างแรงจูงใจแก่บุคลากรทุกระดับโดยปรับระบบค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้เหมาะสม และความก้าวหน้าในวิชาชีพที่เป็นธรรม ปรับปรุงกฎระเบียบและวิธีการปฏิบัติงานที่เอื้อต่อการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสบพ.กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินมีความทรุดโทรมอย่างมากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไว้รัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563-2565  ทั้งผู้ประกอบการ รวมถึง สบพ.ซึ่งเป็นหน่วยงานสร้างคนด้านการบินก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะศูนย์ฝึกการบินหัวหิน ที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงองค์กร จากลูกค้าหลัก คือ การบินไทย และสายการบินอื่นๆ อย่างบางกอกแอร์เวย์ ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยสมายล์ ที่ส่งนักบินมาฝึกบิน ด้วยทุนส่วนตัวและทุนราชการ แต่เวลานี้เริ่มมีสัญญาณที่ดีอีกครั้ง เนื่องจากการบินไทยได้ประกาศว่าจะซื้อเครื่องบินฝูงใหม่จำนวน 45 ลำ ทั้ง โบอิ้ง 787 และแอร์บัส 321 นีโอ ดังนั้นสบพ.จำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการผลิตบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินทั้งหมด ซึ่งวิกฤติที่ผ่านมาการบินไทยได้นำนักบินออกจากระบบแทบจะหมด แต่เวลานี้การบินไทยประกาศรับนักบินแล้ว เพื่อรองรับเครื่องบินฝูงใหม่ที่จะทยอยเข้ามาในปี 2569-2570

ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะทำให้เป็นศูนย์ฝึกการบินหัวหินสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติ ซึ่งเวลานี้มีหลายประเทศให้ความสนใจส่งนักเรียนมาฝึกที่ศูนย์ฝึกของสบพ.ทั้งจีน ซาอุดิอาระเบีย มองโกเลีย ลาว และกัมพูชา ดังนั้นหากสามารถพัฒนาได้สำเร็จตามแผนจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติมากขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบัน สบพ. มีนักศึกษารวมทุกชั้นปีประมาณ 3,200 คน หรือสามารถรับนักศึกษาได้ปีละ 650 คน แต่หากพัฒนาตามแผนเฟสที่1 ได้สำเร็จและเปิดให้บริการใน 70 และเฟสที่ 2 และ3 แล้วเสร็จในปี 72 จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตบุคลากรได้ประมาณ 4,000-5,000 คนต่อปี