ผู้ชมทั้งหมด 1,459
รฟม. เปิดไทม์ไลน์รถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) กรอบวงเงินลงทุน 4.8 หมื่นล้านบาท เร่งจ้างศึกษาจัดทำรายงาน PPP ทบทวนแบบ คาดแล้วเสร็จปี 65 เปิดประมูลปี 67 ก่อสร้างปี 68 กำหนดแล้วเสร็จปี 71 หวังเชื่อมโครงข่ายรถไฟฟ้า 7 สาย
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าแผนการลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) กรอบวงเงินลงทุน 48,386 ล้านบาทของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่า ในขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคาเพื่อจ้างที่ปรึกษาทบทวน และปรับปรุงรายละเอียดรูปแบบการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) รวมทั้งการออกแบบ พร้อมจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเดือนกันยายน 2565
โดยรูปแบบการลงทุนคาดว่าจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ได้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2566 พร้อมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในช่วงเดือนกันยายน 2566 จากนั้นก็จะดำเนินการประกวดราคาหาเอกชนมาร่วมลงทุนในปี 2567 และในปี 2568 คาดว่าจะได้เอกชนร่วมลงทุน และดำเนินการก่อสร้าง โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างราว 39 เดือน เปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าในปี 2571
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล การศึกษาความเหมาะสมในเบื้องต้นจะพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ จำนวน 20 สถานี ระยะทาง 22.1 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนอยู่ที่ 48,386 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7,254 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 20,864 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานระบบ 19,013 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาโครงการ 1,255 ล้านบาท โดยโครงการนี้เมื่อพัฒนาร่วมกับระบบทางด่วนบนสายทางเดียวกันแล้ว รถไฟฟ้าจะให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ 22.3% ขณะที่ทางด่วนให้ผลตอบแทน 38.9% ถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน
ขณะเดียวการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลเมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะส่งผลให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวก สบาย เนื่องจากเป็นโครงการที่เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้า 7 สาย ประกอบด้วย สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีชมพู สถานีบางเขนเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีแยกเกษตรเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีฉลองรัชเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเทา และสถานีลำสาลีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสีส้ม เบื้องต้น รฟม.คาดการณ์ว่าปีแรกของการเปิดให้บริการ จะมีปริมาณผู้โดยสารราว 2.18 แสนคนเที่ยวต่อวัน
อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลนั้นมีส่วนซ้อนทับกับโครงสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บนแนวถนนประเสริฐมนูกิจ เป็นระยะทาง 7.2 กิโลเมตร (จำนวน 6 สถานี) โดยก่อนหน้านั้นคณะกรรมการ รฟม. (บอร์ด รฟม.) ได้มีมติอนุมัติให้ รฟม. ดำเนินการก่อสร้างฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลไปพร้อมกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 โดยมีกรอบวงเงินรวม 1,470 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย ค่างานก่อสร้างฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ในส่วนที่ซ้อนทับกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 จำนวน 1,418 ล้านบาท (รวมค่า Provisional Sum) และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 52 ล้านบาท