รฟท. วิกฤติ!! ขาดแคลนพนักงานอย่างหนัก หลังมติครม.ให้เพิ่มได้แค่ 5%

ผู้ชมทั้งหมด 421 

รฟท.วิกฤติ!! ขาดแคลนพนักงานอย่างหนัก หลังมติครม.ให้เพิ่มได้แค่ 5% ลดจาก 1.8 หมื่นคนเหลือ9 พันคน เร่งจ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์กำลังคนให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ที่จะทางคู่หลายเส้น คาดใช้เวลา 1 ปีแล้วเสร็จ

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบการจัดสรรอัตรากำลังและการสรรหาพนักงานใหม่ จำนวน 81 อัตรา หรือคิดเป็น5% ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อปี 2541 ที่ให้รฟท.สามารภรับบุคลากรใหม่เพิ่มได้ 5% ของจำนวนผู้เกษียณอายุในแต่ละปี ส่งผลให้ปัจจุบัน รฟท.มีพนักงานประมาณ 9 พันคน จากในปี 2541 รฟท. ที่มีพนักงานอยู่ประมาณ 1.8 -2 หมื่นคน ถือว่าค่อนข้างวิกฤติในการขาดแคลนพนักงาน เพราะกำลังคนของรฟท.ลดน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่งานเดินรถไม่ได้ลดจำนวนลงยังอยู่ที่ประมาณ 200 ขบวนต่อวัน และยังมีความยุ่งยากมากขึ้น

สำหรับตำแหน่งของพนักงานที่ขาดแคลนมาก พนักงานขับรถไฟ ที่มีอยู่ 1,078 คน ขาดแคลนประมาณ 180 คน และพนักงานช่างเครื่อง ที่มีอยู่ 765 คน ขาดแคนประมาณ 493 คน โดยในช่วงที่ผ่านมา รฟท. พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการฝึกอบรมพนักงานช่างเครื่อง ทั้งทฤษฎี และปฏิบัติ เพื่อให้มาเป็นพนักงานขับรถ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 7 ปี แต่ในระยะหลังมีเทคโนโลยีเข้ามา จึงทำให้กระบวนการฝึกอบรมพนักงานช่างเครื่อง ใช้เวลาลดลงเหลือประมาณ 3-4 ปี แต่ยังเป็นการที่ฝึกอย่างเข้มข้น และให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก แต่การดำเนินการดังกล่าว ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ จะช่วยผลิตบุคลากรแต่ก็ไม่เพียงพอ

นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า  รฟท.จะจัดสรรงบประมาณปี 2567 ในการว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อทำการศึกษาเรื่องอัตรากำลังคนให้เหมาะสมกับบริบทใหม่ของรฟท. ที่จะมีรถไฟทางทางคู่ รวมถึงความต้องการรถใหม่ ว่ารฟท.ต้องการเพิ่มพนักงานจำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่รัฐบาลต้องการให้ระบบรางเป็นประดูกสันหลังของประเทศ เพราะหากมีรางไม่มีรถก็ไม่มีประโยชน์ หรือมีราง มีรถ แต่ไม่มีคนขับก็แย่ ซึ่งแม้วันนี้ยังไม่มีรถจักรเข้ามาใหม่ งานก็ยังล้นคนแล้ว โดยกำลังคนที่ขาดแคลนมาก คือพนักงานขับรถไฟ ที่มีอยู่ 1,078 คน ขาดแคลนประมาณ 180 คน และพนักงานช่างเครื่อง ที่มีอยู่ 765 คน ขาดแคนประมาณ 493 คนดังนั้นจึงต้องมีการจ่ายค่าล่วงเวลา (โอที) ให้พนักงานทำงานเพิ่ม หรือปรับโครงสร้างเกลี่ยกำลังคนไปในจุดที่ขาดแคลนมากก่อน ทั้งนี้ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จประมาณ 1 ปี

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการจัดทำแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยปี 66-70 (แผนฟื้นฟู รฟท.) นั้น ขณะนี้ได้นำเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) แล้ว โดยแผนฉบับนี้ฯ จะต่างจากเดิมคือ การเน้นทำการตลาดเชิงรุก โดยวิ่งหาลูกค้าด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าให้มากขึ้น จากเดิมที่ไม่ได้ระบุไว้ รวมถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สำคัญจะเน้นปัจจัยที่ทำให้เป้าหมาย EBITDA เป็นศูนย์ และไม่ขาดทุน รวมถึงการสร้างประโยชน์ทางอ้อมให้กับประเทศ  เช่น ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเปลี่ยนมาขนส่งสินค้าทางรางมากขึ้น เป็นต้น ส่วนการปรับอัตราค่าโดยสาร นั้น ได้มีการตั้งสมมุติฐานไว้ แต่ต้องรอให้แผนฯได้รับการอนุมัติก่อนจึงดำเนินการได้