รฟท.แจงปรับแบบก่อสร้างรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง พิจารณาข้อมูลทุกมิติ

ผู้ชมทั้งหมด 1,072 

รฟท.ชี้แจงกรณีข้อเสนอการปรับแบบแปลนก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่ผ่านพื้นที่ ต.โคกกรวด และต.บ้านใหม่ จ.นครราชสีมา ย้ำพร้อมรับฟัง และพิจารณาข้อมูลในทุกมิติ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและส่วนรวม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มีตัวแทนประชาชนในพื้นที่ตำบลโคกกรวด และตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ได้แสดงความเห็น  และเสนอให้มีการปรับแบบแปลนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาในการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของการรถไฟฯ ได้มีการดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนมาโดยตลอด

รวมถึงในส่วนโครงการก่อสร้างทางรถไฟที่พาดผ่านพื้นที่ ตำบลโคกกรวด และตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ก็ได้มีการปรับปรุงรายละเอียดโครงการตามที่ได้หารือกับเทศบาลตำบลบ้านใหม่และจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงผ่านขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการศึกษาออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อนจะนำมาสู่รูปแบบการก่อสร้าง

ปัจจุบันพื้นที่ 2 ตำบลดังกล่าว อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา)  และอยู่ในแผนดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 2 ช่วง คลองขนานจิตร – ชุมทางถนนจิระ ซึ่ง การรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านใหม่ ที่ต้องการให้ปรับรูปแบบโครงสร้างทางรถไฟแล้ว

โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ และคณะได้มีการลงพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อรับทราบปัญหาของโครงการฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ จากการพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า สามารถปรับเพิ่มขนาดความสูงของทางลอดให้มากขึ้นได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจราจรตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ จากเดิมความสูงของทางลอด 3.5 เมตรนั้น สามารถปรับเพื่มความสูงเป็น 4 ถึง 5 เมตร เพื่อให้ยานพาหนะขนาดใหญ่สามารถลอดผ่านใช้งานได้ ส่วนข้อเสนอเพิ่มเติมที่ต้องการให้ปรับเปลี่ยนแบบก่อสร้างจากการยกระดับแบบคันดินเป็นการยกระดับแบบตอม่อนั้น การรถไฟฯ ได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณารูปแบบของโครงสร้างทางรถไฟที่เหมาะสมนั้น จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมทางด้านอื่น ทั้งด้านวิศวกรรม ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งความเหมาะสมในการลดผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ในระยะยาวควบคู่กันไปด้วยนอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบในภาพรวมอันจะเกิดต่อผู้ใช้บริการรถไฟ อาทิ  แผนการเปิดให้บริการที่อาจจะล่าช้าออกไปอันเนื่องมาจากการปรับแบบ รวมถึงเรื่องกรอบงบประมาณของโครงการก่อสร้างที่ต้องเพิ่มเติมขึ้น ซึ่งในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงได้ลงนามสัญญาแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการ เป็นต้น

ท้ายนี้ การรถไฟฯ ขอเรียนย้ำว่าพร้อมรับฟัง และความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อนำมาพิจารณาในมิติต่างๆอย่างรอบด้าน ให้มีความครอบคลุมและครบถ้วน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของการให้บริการต่อประชาชนโดยรวมเป็นสำคัญ