ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูง ท่ามกลางแรงกดดันขยับอัตราดอกเบี้ย

ผู้ชมทั้งหมด 16,550 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มทรงตัว ท่ามกลางแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 84-94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 87-97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 18 – 22 ก.ย. 66 พบว่าราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง หลังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มตึงตัวจากการปรับลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย รวมถึง ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลง ขณะที่อุปสงค์มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม ตลาดมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงและมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในเร็วนี้

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จึงส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ หลังธนาคารกลางสหรัฐ มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25 – 5.50% ในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. แต่คาดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการชุมเดือน พ.ย. 66 เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 3.2% มาอยู่ที่ 3.7% เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ราว 4.3%
  • อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง เนื่องจากซาอุดิอาระเบียขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปี 2023 ขณะที่ รัสเซียขยายระยะเวลาการลดการส่งออกน้ำมันดิบที่ระดับ 0.3 ล้านบาร์เรล ถึงสิ้นปีเช่นกัน โดยปริมาณการผลิตล่าสุดของซาอุดิอาระเบียในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 8.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 9.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันดิบมีแนวโน้มคงกำลังการกลั่นในระดับสูงและปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยสำนักงานพลังงานสากลสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการกลั่นน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 16.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2562
  • สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดตลาดน้ำมันดิบจะเข้าสู่ภาวะขาดดุลอย่างมากในไตรมาส 4 ของปี 2566 ที่ราว 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบปรับลดลงจากการขยายมาตรการปรับลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียและรัสเซียจนถึงสิ้นปีนี้  ขณะที่อุปสงค์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของกลุ่มโอเปกที่คาดว่าตลาดจะขาดดุลมากสุดในรอบ 5 ปี สำหรับในปี 2567 IEA คาดความต้องการใช้น้ำมันดิบจะเติบโตที่ราว 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่อุปทานจะปรับเพิ่มขึ้นราว 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ตลาดมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเกินดุลอีกครั้ง
  • ความกังวลต่อวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีนเริ่มคลี่คลายลง หลัง Country Garden บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอกชนรายใหญ่ที่สุดของจีน ได้รับการอนุมัติจากเจ้าหนี้ให้ขยายระยะเวลาการชำระคืนพันธบัตร 6 ชุดออกไปอีก 3 ปี นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและให้สินเชื่อในอัตราพิเศษกับการซื้อบ้านในครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาการเจรจาขยายระยะเวลาชำระคืนพันธบัตรที่จะมีกำหนดชำระวันที่ 21 ต.ค. นี้ ว่าจะสามารถเลื่อนออกไปได้หรือไม่ หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้อาจจะส่งผลกดดันต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดน้ำมัน
  • ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านเริ่มคลี่คลายลง หลังล่าสุดสหรัฐฯ ได้ยกเว้นมาตรการคว่ำบาตรบางส่วน โดยอนุญาตให้อิหร่านสามารถเข้าถึงรายได้จากการขายน้ำมันดิบที่ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการปล่อยตัวนักโทษชาวอเมริกา ความคืบหน้าล่าสุดอิหร่านสามารถเข้าถึงเงินทุนดังกล่าวได้แล้วและการปล่อยตัวนักโทษคาดจะเกิดขึ้นในเร็วนี้ ซึ่งผลจากการผ่อนปรนความเข้มงวดของมาตรการฯ ส่งผลให้อิหร่านมีการปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบขึ้นมาอยู่ที่ราว 3.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. 66 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือน ก.ย. 66
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 66 ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน เดือน ส.ค. 66 และดัชนีราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตของอังกฤษ เดือน ส.ค. 66

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 84-94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 87-97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 11 – 15 ก.ย. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 90.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 3.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 93.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 95.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงสนับสนุนความกังวลต่ออุปทานตึงตัวจากการขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และรัสเซียที่ปรับลดการส่งออกน้ำมันดิบราว 300,000 บาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 8 ก.ย. 66 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.0 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.9 ล้านบาร์เรล