ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ถูกกดดัน เหตุตลาดกังวลเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัว  

ผู้ชมทั้งหมด 619 

ไทยออยล์ ชี้ ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ถูกกดดัน เหตุตลาดกังวลการเติบโตเศรษฐกิจจะชะลอตัว จากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูง คาด เวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 105-115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 110-120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 27 มิ.ย. – 1 ก.ค. 65 พบว่า ราคาน้ำมันถูกกดดันหลังธนาคารกลางทั่วโลกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ทำให้ตลาดมีความกังวลการชะลอตัวของเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ทำให้สัญญาน้ำมันดิบมีความน่าสนใจลดลง สำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น อย่างไรก็ตามอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวทั่วโลก ยังคงเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซีย ที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการยุติการนำเข้าของสหภาพยุโรป

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดัน หลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ในสัปดาห์ที่แล้วกว่า 0.75% เพื่อมุ่งลดภาวะเงินเฟ้ออันเนื่องจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย และส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในตลาดในชะลอตัวลง ขณะเดียวกันการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนผู้ถือครองเงินสกุลอื่นสนใจในการลงทุนน้ำมันดิบลดลง
  • ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันญี่ปุ่นปรับสูงขึ้นในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 65 ใกล้สู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด หลังรัฐบาลญี่ปุ่นใช้มาตรการอุดหนุน เพื่อลดบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ตามรายงานของ Petroleum Association of Japan (PAJ) อย่างไรก็ตามทาง ENEOS คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันของญี่ปุ่นจะปรับลดลง เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ในประเทศจะปรับลดลงราว 2% ต่อปี หลังจำนวนประชากรมีแนวโน้มลดลง และเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
  • ปริมาณการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปจีนในเดือน พ.ค. 65 ลดลง 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ 3.27 ล้านตัน นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.ค. 63 หลังจีนประกาศใช้มาตรล็อคดาวน์ตั้งแต่เดือน มี.ค. 65 ในเมืองเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ทำให้ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศปรับลดลง ส่งผลให้โรงกลั่นหลายแห่งในประเทศลดกำลังการผลิต ประกอบกับโควตาส่งออกที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้จีนส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/65
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบรัสเซียในช่วงครึ่งแรกของเดือน มิ.ย. 65 เพิ่มสูงขึ้น 500,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังจีนและอินเดียเพิ่มปริมาณการซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซีย เนื่องจากมีราคาถูกเมื่อเทียบกับน้ำมันดิบชนิดอื่น ซึ่งรัสเซียคาดว่าปริมาณการผลิตจะกลับสู่ระดับก่อนมาตรการคว่ำบาตรได้ในเดือน ก.ค. 65 ขณะที่สำนักงานพลังงานสากลหรือ IEA คาดว่าปริมาณการผลิตของรัสเซียจะปรับลดลงแตะระดับ 8.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงปลายปี 65 จาก 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย. 65 หลังยุโรปบังคับใช้มาตรการยุติการนำเข้าจากรัสเซีย
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง โดย Baker Hughes รายงานปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 17 มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 7 แท่นสู่ระดับ 740 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ มี.ค. 63 ล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 12.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาส 4/65 ซึ่งสูงกว่าปริมาณการผลิตในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดที่ระดับ 12.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 62
  • สหรัฐฯ และกลุ่มพันธมิตรหารือกันเพื่อเตรียมออกมาตรการตรึงราคาน้ำมัน (price cap) ของรัสเซีย เพื่อกดดันราคาน้ำมันและจำกัดรายได้จากการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย ขณะที่ยังคงอนุญาตให้น้ำมันของรัสเซียออกสู่ตลาดได้ เพื่อบรรเทาภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว
  • หลังสหภาพยุโรปลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ทำให้หลายประเทศต้องหันกลับมาใช้ถ่านหินเป็นพลังงานอีกครั้ง อาทิเช่น เยอรมัน อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ นอกจากนั้นสหภาพยุโรปพยายามหาอุปทานก๊าซธรรมชาติและพลังงานจากแหล่งอื่น ทดแทนการนำเข้าจากรัสเซีย เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงไตรมาส 4
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สหภาพยุโรปเดือน มิ.ย. ซึ่งคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น จีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 1 มีแนวโน้มปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตจีนเดือน มิ.ย. ตลาดคาดว่าจะปรับลดลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 105-115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 110-120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 20 – 24 มิ.ย. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 107.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 1.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 113.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 116.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดกังวลอัตราการดอกเบี้ยนโยบายระดับสูงของธนาคารกลางทั่วโลก จะกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัว หลังยุโรปมีข้อสรุปยุติการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่การปรับเพิ่มการผลิตจากกลุ่มโอเปกพลัสเพื่อชดเชยน้ำมันที่หายไปจากส่วนของรัสเซียยังมีความไม่แน่นอนสูง