ผู้ชมทั้งหมด 694
สนข. ผุดไอเดียเก็บค่าธรรมเนียมใช้ถนนเขตจราจรติดขัด ใช้โมเดลเดียวกับเยอรมันนี-อังกฤษ-สิงคโปร์ ชี้ผลการศึกษาระบุช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรแออัด ลดฝุ่น PM 2.5 และลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย.โรงแรมเรดิสัน บลู พลาซ่า กรุงเทพฯนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานงานสัมมนาปิดโครงการสนับสนุนการพัฒนามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความท้าทายของภาคการขนส่ง (TRANSfer III–Facilitating the Development of Ambitious Mitigation Actions) เพื่อเผยแพร่ความสำเร็จของความร่วมมือในการส่งเสริมการขนส่งที่สะอาดและยั่งยืนของประเทศไทย โดยมีนายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมงานประมาณ 100 คน
นายปัญญา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สนข. และ GIZ รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันในการศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาการขนส่งที่มีความท้าทาย เช่น การจราจรติดขัด และการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าโครงการฯจะสิ้นสุดลง แต่ สนข. จะยังมุ่งมั่นที่จะสานต่อการดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ของโครงการ TRANSfer โดยเฉพาะการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่การจราจรหนาแน่นในเขตกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะเพื่ออากาศสะอาดเพื่อปรับปรุงการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อใช้เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมืองที่มีปริมาณรถหนาแน่น ลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) และลดก๊าซเรือนกระจก โดยการผลักดันและส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ในบางประเทศดำเนินการแล้วได้ผล อาทิ ประเทศเยอรมันนี ประเทศสิงคโปร์ และประเทศอังกฤษ เป็นต้น
นายปัญญา กล่าวว่า จากผลการศึกษาเบื้องต้นของโครงการ โดยจำลองพื้นที่นำร่องเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนน ตามแนวเส้นทางโครงการรถรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเป็นวงรอบ พบว่า สามารถช่วยลดปริมาณการจราจรติดขัดได้ 20% ลดมลพิษทางอากาศได้ 3-36% รวมถึงสามารถเพิ่มความเร็วในการเดินทางและเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานระบบขนส่งสาธารณะได้
ขณะที่ผลการวิเคราะห์ทางการเงินพบว่า ต้นทุนการเป็นเจ้าของรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า ต่ำกว่ารถโดยสารประจำทางที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงถึง 23% เนื่องมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าที่ต่างกันถึง 3 เท่า และหากมีการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางที่ใช้ก๊าซธรรมชาติมาเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า 3,200 คันได้ ก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 184,000 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ทั้งนี้การปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของรถโดยสารประจำทางยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมการใช้ถนน ตามแนวเส้นทางนำร่องดังกล่าวของรถทุกประเภทอยู่ที่ 60 บาทต่อเที่ยวต่อคัน ซึ่งคิดจากพื้นฐานของการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษ(ทางด่วน) และใช้รูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางในลักษณะอัตโนมัติแบบไม่มีไม่กั้น หรือ M-Flow แบบใช้ก่อนจ่ายทีหลัง
นายปัญญา กล่าวอีกว่า ขอย้ำว่าการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใช้ถนนเป็นเพียงผลการศึกษาเท่านั้น ส่วนจะนำไปสู่การปฏิบัติในรูปแบบใด อาจจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ทั้งข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยต้องจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้ครอบคลุมทุกด้าน อย่างไรก็ตามในการนำมาตรการดังกล่าวไปสู่การปฎิบัตินั้น เวลานี้ยังไม่สามารถระบุเวลาได้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะหากจะนำไปใช้จริงต้องพิจารณาจากความพร้อมของระบบขนส่งสาธารณะเป็นสำคัญ ทั้งนี้สนข.จะสรุปผลการศึกษาดังกล่าวเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในสิ้นปีนี้ ก่อนนำไปขยายผลสู่การปฏิบัติในอนาคตดต่อไป