สนข.เตรียมชงครม.ดัน พรบ.ตั๋วร่วมมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี 66

ผู้ชมทั้งหมด 455 

สนข.เตรียมชงครม.ดัน พรบ.ตั๋วร่วมมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี 66 ประกาศค่าโดยสารเป็นมาตรฐานเดียวกันเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว เดินทางยาวข้ามขนส่งสาธารณะทุกระบบ 65 บาท พร้อมจัดตั้งกองทุนอุดหนุนผู้ได้รับผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่โรงแรมพลูแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ น.ส.กรุณา เนียมเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดงานสัมมนาโครงการจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ครั้งที่3 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วม ว่า ปัจจุบัน สนข.อยู่ระหว่างดำเนินการผลักดันการประกาศใช้พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ….. ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อรองรับการดำเนินงานทั้งในส่วนของอัตราค่าโดยสารร่วมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมาตรฐานด้านเทคโนโลยีระบบตั๋วร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งภายในเดือน ม.ค.66 สนข.จะนำเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) หากเป็นไปตามกระบวนการคาดว่าพ.ร.บ.น่าจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี 66

น.ส.กรุณา กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ2566 สนข.ได้จัดสรรงบฯ 40ล้านบาทในการว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาวิเคราะห์รูปแบบ และเจราจรเชิงธุรกิจในการกำหนดและประกาศใช้โครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม(Common Fare) สำหรับระบบขนส่งที่เข้าร่วมในระบบตั๋วราวมทั้งหมด และในปีงบฯ67 สนข.จะเสนอของบฯจำนวน 1,600ล้านบาท เพื่อศึกษารูปแบบการจัดตั้งบริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมที่ดำเนินงานเป็นศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง(Central Clearing House ) หรือ CCH  และจ้างที่ปรึกษาควบคุมเทคโนโลยีระบบ CCH

น.ส.กรุณา กล่าวว่า เบื้องต้น สนข.กำหนดป้าหมายว่าประชาชนจะสามารถใช้ระบบตั๋วร่วมที่กำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นมาตรฐานเดียวกันในปี 2570 โดยระบบรถไฟฟ้าจะเป็นโครงข่ายขนส่งสาธารณะหลักที่กำหนดให้มีการจัดเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว  ทั้งนี้สนข.จะเจรจาขอความร่วมมือจากภาคเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าในปัจจุบันให้เข้าร่วมระบบ CCH เพื่อประโยชน์ในการคำนวณการชดเชยรายได้ให้กับของเอกชนผู้รับสัมปทาน และประชาชนจะได้ใช้บัตรใบเดียวในการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ

ทั้งนี้เมื่อการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเสร็จสมบูรณ์ พร้อมประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว ก็จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยลดเวลาการเดินทางและประหยัดค่าโดยสาร จูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน ช่วยลดปัญหาการจราจร ลดการใช้น้ำมันเชื่อเพลิง ลดปัญหามลพิษทางอากาศ ส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม

น.ส.กรุณา กล่าวอีกว่า เมื่อพ.ร.บ.ดังกล่าวประกาศใช้แล้ว จะต้องมีการจัดตั้งบริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อสนับสนุนรายได้ค่าโดยสารส่วนต่างที่หายไปให้กับเอกชน ทั้งจากราคาตั๋วร่วมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และจากการบังคับใช้ส่วนลดค่าแรกเข้าข้ามแต่ละสายที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้เอกชนที่ได้รับสัญญาสัมปทานเดิมไม่ได้รับผลกระทบ แต่ประชาชนได้รับบริการที่ถูกลง

สำหรับการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมนั้น จะนำเอารายได้มาจากหลายส่วน อาทิ การสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ส่วนแบ่งรายได้หรือผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ให้บริการขนส่งรายใหม่เมื่อสัญญาสัมปทานมีข้อสัญญาให้ต้องส่งเงินเข้ากองทุน ส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการตั๋วร่วม และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน เป็นต้น เบื้องต้น สนข.ประเมินว่าจะต้องใช้เงินจากกองทุนเฉลี่ยปีละ 1,300 – 1,500 ล้านบาท

ส่วนการเจรจาสัมปทานรถไฟฟ้าในอนาคตนั้น กระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะกำหนดให้ภาคเอกชนใช้ระบบ CCH ของ สนข.ในการชำระค่าโดยสาร เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยสนข.ได้ศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม/อัตราค่าโดยสารเดียว สำหรับรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยศึกษาจากพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสาร ซึ่งพบว่าอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมจะเริ่มต้นที่ 14 บาท และเพดานสูงสุดขั้นแรกที่ 42 บาท แต่หากมีการเดินทางข้ามระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ส่วนใหญ่จะเดินทางในเส้นทางระยะยาว ก็ประเมินว่าในการเดินทางตั้งแต่ ระยะทาง 36 กิโลเมตร(กม.) ขึ้นไป จะมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 65 บาท