ผู้ชมทั้งหมด 1,031
สนพ. เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นแผน PDP เม.ย.นี้ ก่อนรวบ 5 แผนฯ บรรจุในแผนพลังงานชาติ ฉบับใหม่ เสนอ กพช.ช่วงเดือนก.ย.นี้ ยันมุ่งเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเกิน 50% พร้อมรักษาอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผนใกล้เคียงปัจจุบัน คาดอากาศร้อน ดันปี 2567 เกิดพีคไฟฟ้าทำลายสถิติประเทศกว่า 35,000 เมกะวัตต์
นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ฉบับใหม่ ซึ่งจะประกอบด้วย 5 แผนสำคัญ ได้แก่ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) โดยคาดว่า ทั้ง 5 แผน จะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ เพื่อนำประกอบเข้าสู่แผนพลังงานชาติ และเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานห่งชาติ(กพช.) พิจารณาเดือน ก.ย.นี้ ก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติต่อไป
สำหรับร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ แผน PDP ฉบับใหม่ ยังมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% เพื่อให้ไทยบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ.2065 โดยที่สำคัญจะพยายามรักษาอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน 20 ปี ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ อัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน หรือ ราวกว่า 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะดูแลให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าให้น้อยที่สุด
“ค่าไฟฟ้าในแผน PDP ฉบับใหม่ จะต้องเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต้นทุนในช่วงเวลานั้น หรือ รักษาอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตจะเปลี่ยนไปเนื่องจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงโดยเฉพาะก๊าซธรมมชาติ ปรับสูงขึ้นจากอดีต”
ทั้งนี้ สัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในแผน PDP ฉบับใหม่ จะพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนสูงกว่า 50% ก๊าซฯ ประมาณ 30-40% ไฮโดรเจน 5-20% เป็นต้น ซึ่งในส่วนของไฮโดรเจน คาดว่าจะเข้าสู่ระบบไฟฟ้าได้มากขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2578 เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม การจัดทำแผนPDP ยังคงคำนึงถึงหลักการสำคัญใน 3 ด้าน คือ 1. ความมั่นคงทางพลังงาน 2.ราคาพลังงานที่เข้าถึงได้ และ3.ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ปี2567 คาดว่า จะอยู่ที่ระดับ 35,000-36,000 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นราว 15-16% และทำลายสถิติในปี2566 ที่ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ 3 การไฟฟ้าของปี 2566 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. อยู่ที่ระดับ 34,827 เมกะวัตต์ เนื่องจากสภาพอากาศร้อน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
โดยหากพีคไฟฟ้าปี 2567 เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ในระดับดังกล่าว จะส่งผลให้สำรองไฟฟ้าที่มีอยู่ใน ปัจจุบัน ระดับกว่า 30% ของปริมาณการใช้ประเทศประเทศจะลดลงต่ำกว่า 25%
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาการเกิดพีคไฟฟ้าเริ่มเปลี่ยนจากเดิมเกิดขึ้นช่วงกลางวัน ไปเป็นช่วงกลางคืน เนื่องจากปัจจุบันมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าใช้ในช่วงกลางวันมากขึ้น โดย สนพ. คาดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า กระทรวงพลังงานจะต้องบริหารจัดการกับการผลิตไฟฟ้ารองรับพีคไฟฟ้าใหม่ และพิจารณาหาความเหมาะในการเลือกชนิดพลังงานหมุนเวียนที่พึ่งพาได้มาช่วยเสริมระบบ เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานลม และไฟฟ้าส่วนเกิน เป็นต้น