สร.กฟผ. ร้อง! “พีระพันธุ์” ไม่เห็นด้วย สนพ.ถอดโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ฯ ออกจากแผน PDP 2024

ผู้ชมทั้งหมด 441 

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกฟผ. ยื่นหนังสือร้อง “พีระพันธุ์” ไม่เห็นด้วย สนพ.ถอดโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ฯ ออกจากแผน PDP 2024 พร้อมแจงเหตุผล 5 ข้อ ยันยังมีความจำเป็นต้องสร้าง เสริมความมั่นคงภาคใต้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ได้ส่งหนังสื่อถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงและแย้งเหตุผลของ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ว่า กลุ่มสร.กฟผ. ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของ สนพ. ที่ไม่บรรจุโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2024) โดยได้ชี้แจงในรายละเอียดแต่ละข้อดังนี้

1.มีเป้าหมายต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การที่ในแผน PDP 2024 กำหนดให้มีโรงไฟฟ้าใหม่ในภาคตะวันตกขนาด 1,400 เมกะวัตต์ และใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหมือนโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีจึงไม่ได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซตามที่กล่าวอ้าง และในแผน PDP ใหม่นี้ ก็ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติอีกหลายโครงการ  รวมทั้งในพื้นที่ภาคใต้เองด้วย

2.พิจารณาความมั่นคงรายภาค ความคุ้มค่า รวมถึงการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรื่องความมั่นคงรายภาคนั้น การมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มากกว่าหรือใกล้เคียงกับความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ในพื้นที่เอง ย่อมมีความมั่นคงดีกว่าที่จะอาศัยการส่งไฟฟ้ามาจากภูมิภาคอื่น เพราะจะสามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที ในขณะที่การส่งไฟฟ้ามาจากภูมิภาคอื่นจะเป็นส่วนช่วยเสริมด้านความมั่นคงตามความจำเป็น เป็นครั้งคราวไปจะเหมาะสมกว่า

ทั้งนี้การส่งไฟฟ้ามาจากระยะทางไกลจะมีความสูญเสียพลังงานไฟฟ้าจำนวนมากที่ก็ต้องนำมาคิดเป็นต้นทุนด้วย ในเรื่องความคุ้มค่า และการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีจะใช้พื้นที่โรงไฟฟ้าเดิมที่ปลดระวางไปแล้ว ซึ่งเป็นทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์เนื่องจากอยู่บริเวณศูนย์กลางของภาคใต้ มีโครงข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมโยงระบบไฟฟ้าครอบคลุมพื้นที่ฝั่งอันดามัน ฝั่งอ่าวไทย และภาคใต้ตอนล่าง จึงมีความคุ้มค่าและได้ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเดิม และชุมชนรอบโรงไฟฟ้ามีความคุ้นเคยและให้การยอมรับ

3.หากมีโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี จะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติใหม่ ต้องใช้เงินลงทุนสูง ประเด็นนี้ กฟผ.ได้มีการศึกษาและทบทวนเรื่องระบบการจัดส่งเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติใหม่แล้ว  ให้มีความเหมาะสมกับขนาดของโครงการทำให้มูลค่าการลงทุนลดลง ซึ่งแม้ว่าจะต้องพัฒนาโครงสร้างระบบส่งก๊าซธรรมชาติใหม่ แต่เมื่อดูในภาพรวมร่วมกับโครงการโรงไฟฟ้าแล้วสุดท้ายจะมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าไม่มากไปกว่าโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ของเอกชนที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทเดียวกัน ดังนั้นจึงจะไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่ออัตราค่าไฟฟ้าในภาพรวม

4.ศักยภาพการส่งจ่ายไฟฟ้าของระบบไฟฟ้า 500 เควี จากภาคตะวันตกมาภาคใต้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ข้อเท็จจริงคือโครงการระบบส่งไฟฟ้า 500 เควี เป็นโครงการที่มีอยู่ในแผน PDP 2018 เช่นเดียวกันกับโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี เพื่อดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคใต้ เนื่องจากเคยเกิดปัญหาไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อช่วงประมาณปี 2516 ดังนั้นในการจัดทำ PDP 2018 จึงได้กำหนดให้มีโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีเพื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้และโครงการระบบส่ง 500 เควีเพื่อการส่งจ่ายไฟฟ้าจากภาคตะวันตกเป็นระบบเสริม

5.โรงไฟฟ้าภาคตะวันตกมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติอยู่แล้ว กลุ่มโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก เป็นโรงไฟฟ้าที่สนับสนุนความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคกลางและเขตนครหลวงเป็นหลัก การมีและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่แล้วเป็นข้อดี แต่เนื่องจากกำลังผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ในภาคตะวันตกจะลดลงไปมากถึง 3,481 เมกะวัตต์ จากการปลดระวางโรงไฟฟ้าของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีในปี  2568 และ 2570 และจะลดลงไปอีก 1,400 เมกะวัตต์ในปี 2576 จากการปลดระวางโรงไฟฟ้าของบริษัทราชบุรีเพาเวอร์ ซึ่งจะเกิดผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคตะวันตก 

ดังนั้นการกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าภาคตะวันตกขนาด 1,400 เมกะวัตต์ใน PDP 2024 จึงควรให้เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่สร้างทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะถูกปลดระวางออกไป เพื่อดูแลความมั่นคงในพื้นที่ของตัวเองจะเหมาะสมมากกว่าที่จะวางแผนให้เป็นโรงไฟฟ้าที่จะดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าในภาคใต้ นอกจากนี้มีข้อสังเกต คือ ในแผน PDP 2018 เคยกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก ขนาด 700 เมกะวัตต์ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่ปลดระวางในพื้นที่โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าในภูมิภาค ในขณะที่ครั้งนี้จะมีโรงไฟฟ้าปลดระวางจำนวนมากกว่าเดิมหลายเท่าคือเกือบ 5,000 เมกะวัตต์ แต่ไม่พูดเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนเพื่อความมั่นคงในภูมิภาคนี้ แต่กลับคิดที่จะใช้โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ 1,400 เมกะวัตต์ ไปดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าในภูมิภาคอื่นอย่างนี้สมเหตุสมผลหรือไม่

ทั้งนี้ สร.กฟผ.ในฐานะที่มีบทบาทหน้าที่ในการปกป้ององค์กร พนักงาน และพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนจึงได้ยื่นหนังสือต่อ นายพีระพันธุ์ ให้มีการทบทวนนำโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีบรรจุกลับเข้าในแผน PDP 2024 เพื่อมิให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ความเสียหายต่อ กฟผ. ทั้งในด้านงบประมาณและทรัพยากรอื่น ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และเพื่อให้ กฟผ. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐมีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ความมั่นคง และทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐในด้านพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สร.กฟผ.จะขอติดตามความก้าวหน้า การดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง