“สุพัฒนพงษ์”เดินหน้านโยบายเร่งด่วน กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้

ผู้ชมทั้งหมด 1,357 

“สุพัฒนพงษ์” เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน หนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ เร่งเปิดโรงไฟฟ้าชุมชน ขีดเส้น 30 กรอบเงื้อนไขต้องเสร็จ เล็งขยายอายุตรึงราคาก๊าซ พร้อมทบทวนงบกองทุนอนุรักษ์ปี 64 ลุยเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เดินหน้าผลักดันไทยฮับซื้อขายไฟฟ้าอาเซี่ยน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังประชุมเวิร์คช็อปเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ” ว่า ตนยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนในระยะสั้นจะต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ได้โดยเร็วหลังจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งภาคพลังงานนั้นเป็นตัวหลักที่จะสามารถดึงเศรษฐกิจที่อ่อนแอกลับมาฟื้นตัวและแข็งแรงได้ โดยจะเน้นสร้างการมีส่วนร่วมบนฐานความเข้าใจเข้าถึงประชาชน โดยอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวของทุกภาคส่วน

ทั้งนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นนั้นกระทรวงพลังงานได้เร่งการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติมว่าจะต้องทำตามวัตถุประสงค์ได้อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรมากที่สุด ซึ่งเอกชนที่จะมาลงทุนต้องมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชพลังงาน และมีการรับซื้อวัตถุดิบในราคาที่เหมาะสมด้วย เพื่อเป็นการสร้างรายได้กระจายสู่ชุมชน พร้อมดำเนินการศึกษากรอบการลงทุนให้ได้ข้อสรุปภายใน 30 วัน หลังจากนั้นก็คาดหวังว่าจะสามารถเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอได้ปลายปีนี้ แล้วเริ่มผลิตเชิงพาณิชณ์ได้ต้นปี 64

ขณะเดียวกันการเดินหน้าเปิดประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนนั้นเมื่อพิจารณาในเบื้องต้นแล้วไม่จำเป็นต้องรอการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ใหม่ โดยยังสามารถยึดตามแผน PDP 2018 เดิมได้ แต่จะมีบทแทรกโรงไฟฟ้าชุมชนเข้าไปในแผนดังกล่าว เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนตัวเลขโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะนำร่องนั้นคาดว่าจะมีการส่งเสริมอยู่ในระดับ 100-200 เมกะวัตต์ซึ่งต้องรอผลการศึกษาชัดเจนก่อน

ส่วนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่จะต้องนำร่อง 100 เมกะวัตต์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกลับไปทบทวนราคารับซื้อไฟฟ้าใหม่ให้สูงขึ้นกว่าราคาที่ประกาศรับซื้อเดิมที่กำหนดรับซื้อไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมาลงทุน

พร้อมกันนี้จะเร่งทบทวนมาตรการช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน เช่น การอุดหนุนราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และราคาก๊าซธรรมชาติ สำหรับรถยนต์ (NGV) ให้เกิดความต่อเนื่องออกไปอีก เพื่อเป็นการลดภาวะของประชาชน ขณะที่งบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 64 ต้องทบทวนใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการสร้างงาน สร้างรายได้

สำหรับความคืบหน้าการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันเป็นระยะที่ 2 ที่มีเอกชนหลายรายที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งก็เป็นไปตามแผน และกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยคาดว่าจะเห็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ภายในปีนี้

ส่วนปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศที่สูงระดับ 40% นั้น ขณะนี้ยังคงต้องติดตามผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ว่าจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าหรือไม่อย่างไร แต่แนวทางที่ต้องพิจารณา คือ การสร้างโครงข่ายไฟฟ้าเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อยกระดับการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าของอาเซียน โดยในเบื้องต้นคาดว่าในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปีจะสามารถเริ่มดำเนินการซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศกัมพูชา และเมียนมา ได้เพื่อจะได้นำไฟฟ้าปริมาณสำรองส่วนเกินขายให้ประเทศเพื่อนบ้านได้

ขณะที่ความคืบหน้าการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP นั้น กระทรวงฯจะเร่งดำเนินการเต็มที่เพื่อให้การส่งต่อระหว่างผู้รับสัมปทานรายเดิมและรายใหม่ สามารถสานต่อได้อย่างราบรื่น ขณะที่เดียวกันก็เร่งดำเนินการเจรจาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ส่วนการเปิดสัมปทานรอบใหม่ มอบหมายกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติศึกษาว่ามีผู้ประกอบการสนใจมากน้อยเพียงใด แปลงใหม่ที่จะเปิดมีความคุ้มค่าในการลงทุนมากน้องเพียงใด

นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ผู้บริหารหน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวงพลังงานจัดทำแผนระยะ 5 ปี ที่กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน โดยเน้นนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างงานสร้างรายได้ รวมถึงวางรากฐานเพื่ออนาคตด้านพลังงานของประเทศ โดยจะเน้นการลงมือทำให้สำเร็จ (Execution) รวมทั้งได้มอบหมายให้ภาคเอกชนไปศึกษาแนวทางการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนตกงานกว่า 2.5 ล้านคน และนักศึกษาจบใหม่กว่าปีละ 4 แสนคน รวมทั้งแนวทางช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจที่เปราะบางได้อย่างไร