“สุรพงษ์” เร่งศึกษารถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่ ระบบขนส่ง EV เชื่อมแหล่งท่องเที่ยว

ผู้ชมทั้งหมด 150 

“สุรพงษ์” สั่งรฟม.- กรมการขนส่งทางราง เร่งศึกษารถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่ คาดหวังเปิดให้บริการปี 74 ศึกษาลงทุนระบบขนส่งด้วยรถยนต์ EV เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ พร้อมพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า

วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2567) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) และนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่ตรวจราชการการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะผู้บริหาร รฟม. ร่วมลงพื้นที่

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ เป็นการติดตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรองรับการเดินทางในเขตเมืองเชียงใหม่ แก้ไขปัญหาจราจรเพื่อให้ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่เป็นโครงการภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit : LRT) เป็นระบบหลักประกอบด้วย 3 เส้นทาง คือ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี สายสีน้ำเงิน ช่วงสวนสัตว์เชียงใหม่ – แยกศรีบัวเงินพัฒนา และสายสีเขียว ช่วงแยกรวมโชคมีชัย – ท่าอากาศยาน

โดยการลงทุนพัฒนารถไฟฟ้ารางเบาในเมืองเชียงใหม่นั้นจะนำร่องโครงการรถไฟฟ้ารางเบาสายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสามัคคี พัฒนา ระยะทาง 10.47 กิโลเมตร จำนวน 13 สถานี ซึ่งจะมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ เป็นโครงสร้างระดับดินจนถึงสถานีโพธาราม หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดระดับเป็นทางวิ่งใต้ดินผ่านเขตเมืองเก่าของจังหวัดเชียงใหม่ จนถึงสถานีท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่แล้วค่อยยกระดับกลับมาเป็นระดับดินจนสิ้นสุดโครงการที่สถานีแม่เหียะสมานสามัคคี

อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟฟ้ารางเบาสายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสามัคคี ปัจจุบันรฟม. ได้เสนอเรื่องเพื่อนำเข้าระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เรียบร้อยแล้วคาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบรูปแบบการลงทุน (PPP) ภายในปี 2569 เริ่มก่อสร้างภายในปี 2570 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2574

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากระบบขนส่งทางรางแล้วกระทรวงคมนาคมยังมีแผนพัฒนาการขนส่งในเมืองเชียงใหม่ที่เป็นระบบ Feeder เช่น รถ EV ให้เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ 7 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี, อุทยานหลวงราชพฤกษ์, ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่, น้ำตกห้วยแก้ว, สวนสัตว์เชียงใหม่, เวียงกุมกาม และวัดพระธาตุดอยคำ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก และส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยรอบพื้นที่สถานีรถไฟที่มีศักยภาพ เป็นการพัฒนาโครงการนำร่อง ประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบ รูปแบบบ้านเดี่ยว 1 ชั้น ขนาด 50 ตารางเมตร ขนาดที่ดิน 50 ตารางวา จำนวน 35 หลัง บนพื้นที่ย่านสถานีรถไฟเชียงใหม่ กว่า 7 ไร่ สามารถเดินทางเข้าออกได้ 2 ทาง คือ ถนนโยธาธิการเชียงใหม่ – ลำพูน (ถนนเลียบทางรถไฟ) และถนนบ้านใหม่ รวมถึงการพัฒนาสวนสุขภาพ บนพื้นที่ย่านสถานีรถไฟเชียงใหม่ ประมาณ 17 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้จังหวัดเชียงใหม่

รวมถึงในอนาคตจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-เชียงใหม่ ระยะทางกว่า 670 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้การเดินทางจากกรุงเทพมหานครถึงเชียงใหม่ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสะดวก สบายมากยิ่งขึ้นในการเดินทางด้วยระบบราง

การพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในจังหวัดเชียงใหม่ของกระทรวงคมนาคมจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง แก้ปัญหาการจราจรติดขัด ลดปัญหามลพิษ เกิดการเชื่อมต่อสถานที่สำคัญ ทั้งท่าอากาศยาน สถานีขนส่งผู้โดยสาร ศูนย์ราชการ โรงพยาบาล และแหล่งท่องเที่ยว ทำให้การเดินทางของประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่มีความสะดวก รวดเร็ว นำมาสู่การสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป