“สุริยะ” จีบเอกชนจีนลงทุนก่อสร้าง – พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในไทย

ผู้ชมทั้งหมด 199 

สุริยะ” จีบเอกชนจีนลงทุนก่อสร้าง – พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในไทย ชี้ “แลนด์บริดจ์” เป็นโอกาสครั้งสำคัญในการทุ่มทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค คาด พ.ร.บ. SEC เริ่มประกาศใช้ปี 68 และน่าจะก่อสร้างระยะที่ 1 ได้ภายในปี 73

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการให้ Mr. Yan Jiehe (นาย เหยียน เจี้ย เหอ) ผู้ก่อตั้งบริษัท Pacific Construction Group และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะและหารือโอกาสในการดำเนินธุรกิจด้านการลงทุนก่อสร้าง และการจัดการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย ของบริษัทฯ โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายปัญญา ชูพานิช ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเข้า ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคมว่า บริษัท Pacific Construction Group เป็นบริษัทระดับโลกที่มีประสบการณ์การลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายรูปแบบกับภาครัฐและเอกชน ทั้งในจีนและต่างประเทศ โดยมีแผนจัดตั้งบริษัท Pacific Construction (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมกับสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประเทศไทย เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน การก่อสร้าง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในประเทศไทย

ดังนั้นการเข้าพบครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีในการหารือในรายละเอียดถึงเป้าหมายและทิศทางการลงทุนในประเทศไทย ของบริษัทฯ สำหรับประเทศไทยมีโครงการลงทุนและการใช้เทคโนโลยีต่างประเทศมาสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย เช่น การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ อาทิ การสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ควบคู่กับการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ การยกระดับท่าเรือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า การพัฒนาโครงข่ายถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างมอเตอร์เวย์และทางพิเศษ และการพัฒนาสนามบินที่มีอยู่ในปัจจุบันและการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) และสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งได้กำหนดรูปแบบเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยรัฐบาลจะดำเนินการจัดหาที่ดินและให้สิทธิเอกชนดำเนินงาน ส่วนเอกชนลงทุนค่าก่อสร้าง บริหารจัดการ และรับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการเป็นระยะเวลา 50 ปี พร้อมทั้งส่งเสริมต่อยอดอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่ ซึ่งในอนาคตแลนด์บริดจ์จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน ช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเลและต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ขณะนี้โครงการฯ อยู่ในช่วงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลต่าง ๆ คาดว่าพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) จะเริ่มประกาศใช้ในช่วงปี 2568 และจะดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 1 ภายในปลายปี 2573 ต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมยินดีให้การสนับสนุนการจัดตั้งบริษัทฯ ในประเทศไทย อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ประเทศไทยผ่านการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ความเชี่ยวชาญ โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยเพื่อสนับสนุนการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาคต่อไป