ผู้ชมทั้งหมด 1,572
“สุริยะ” ประกาศปิดตำนานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 จบทุกโครงการภายในปี 68 จ่อดาวน์เกรดผู้รับเหมางานล่าช้า-อุบัติเหตุบ่อย ไม่ให้เข้าร่วมประมูลงานของคมนาคม
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามโครงการก่อสร้างบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ของกรมทางหลวง (ทล.) และ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยถนนพระราม 2 เริ่มมีการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2513 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายรัฐมนตรี และมีโครงการขยายถนนมาเรื่อยๆจนมาถึงปัจจุบัน จึงถูกเรียกว่าเป็นถนนเจ็ดชั่วโคตร และมีปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมาก และตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระรวงคมนาคมก็ได้รับทราบปัญหามาโดยตลอด จึงสั่งการให้กรมทางหลวง (ทล.) ไปพูดคุยกับผู้รับเหมา เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามที่กำหนดไว้ แต่ก็ยังไม่คืบหน้า จึงได้เชิญผู้รับเหมาทุกราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงอุปสรรคปัญหาจากการดำเนินงานที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด และเร่งรัดทุกสัญญาจ้างให้แล้วเสร็จตามที่กำหนดไว้
นายสุริยะ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการบนถนนพระราม 2 มี 3 โครงการ รวมทั้งหมด 16 สัญญา ประกอบด้วย กทพ. 1โครงการ ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มี 2 สัญญา 2.โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย มี 3 สัญญา และ 3.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 (M82) สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว มี 11 สัญญา
โดยจากการประชุมได้ข้อสรุปว่าทุกโครงการฯ และทุกสัญญา จะต้องแล้วเสร็จภายในเดือน มิถุนายน 2568 ซึ่งได้รับการยืนยันจากผู้รับเหมาว่า สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ตามที่กำหนด ยกเว้นในส่วนของโครงการมอเตอร์เวย์ M82 ตอนที่ 4 จุดเริ่มต้นบริเวณ กม.25+734-กม.26+998 ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร รวมระยะทาง 1.264 กิโลเมตร (กม.) และตอนที่ 6 จุดเริ่มต้นบริเวณ กม.28+664-กม.29+772 ระยะทางรวมประมาณ 1.108 กม. ที่จะแล้วเสร็จในช่วงเดือนธันวาคม 2568 เนื่องจากทั้ง 2 ตอนจะต้องมีการก่อสร้างทางขึ้น-ลงบริเวณด่าน แต่ได้เร่งรัดให้ดำเนินการแล้วเสร็จเร็วขึ้นกว่ากำหนด และเมื่อแล้วเสร็จจะไม่มีโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 อีกแล้ว
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ตนไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะมีการประชุมติดตามเร่งรัดการทำงานทุก ๆ 2 เดือนให้เป็นไปตามแผน และได้สั่งการให้ ทล.ไปกำหนดตัวบุคคลในแต่ละสัญญาเพื่อติดตามงานอย่างใกล้ชิด หากผู้รับเหมารายใดไม่สามารถดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาที่กำหนดไว้ หรือล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดมากกว่า 50% อาจนำไปสู่การยกเลิกสัญญาได้
“เมื่อปี2546 ในสมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผมก็เคยยกเลิกสัญญาผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 มาแล้ว เนื่องจากไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ตามแผนงานในสัญญาที่กำหนดไว้ จึงได้ยกเลิกสัญญาและประมูลหาผู้รับจ้างใหม่จนงานแล้วเสร็จ ไม่น่าเชื่อว่า20 ปีผ่านไปผมจะต้องเข้ามาแก้ปัญหาโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม2อีก ซึ่งผมจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากสังคมให้ถนนสายนี้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น” นายสุริยะกล่าว
ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้ ทล.ไป กำหนดมาตรการควบคุมการทำงานของผู้รับเหมา โดยจัดทำสมุดพกเพื่อตัดคะแนนผู้รับเหมา กรณีเกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้าง หรือทำงานล่าช้า จะมีโทษตั้งแต่การตักเตือนถึงขั้นพิจารณาลดชั้นผู้รับเหมาที่ขึ้นทะเบียนกับกรมบัญชีกลางไว้ จากชั้นพิเศษลดลงเป็นชั้น 1 ซึ่งจะมีผลต่อการประมูลงานของกระทรวงคมนาคมได้ โดยที่ผ่านมามีผู้รับเหมาหลายรายได้เลื่อนชั้น แต่ยังไม่มีรายใดตกชั้น ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้ผู้รับเหมามีความกังวล และมุ่งมั่นทำงานให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และนำเสนอกรมบัญชีกลางพิจารณาเห็นชอบก่อนมีผลบังคับใช้ปฏิบัติต่อไป
นายสุริยะ กล่าวว่า ตนยังได้รับทราบถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างจากผู้รับเหมาว่า ส่วนใหญ่การก่อสร้างโครงการอยู่ใกล้กับชุมชนหลายหลังคาเรือน จึงต้องมีความระมัดระวัง โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ประกอบกับพื้นที่การก่อสร้างมีจำกัด รวมถึงการรื้อย้ายสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น อุโมงค์ใต้ดิน สายไฟฟ้าใต้ดิน สายสื่อสาร เป็นต้น ตลอดจนเรื่องระยะเวลาในการทำงานที่ถูกจำกัดเฉพาะในเวลากลางคืน ทำให้ทำงานได้เพียงวันละ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น ส่งผลให้งานเกิดความล่าช้า ดังนั้นจะให้ ทล.พิจารณาขยายระยะเวลาในการก่อสร้างเพิ่ม โดยเฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงที่การจราจรน้อยกว่าปกติ และจะมีการเบี่ยงการจราจรหรือสลับช่องจราจร เพื่อให้ผู้รับเหมาสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยังมีแผนการก่อสร้างถนนโครงการของ ทล.คือมอเตอร์เวย์สาย M8 นครปฐม-ชะอำ ซึ่งมีความล่าช้าอยู่ให้ไปพิจารณาแก้ปัญหาให้โครงการเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้ประชาชนสามารถเดินทางลงสู้ภาคใต้ได่อย่างสะดวก ซึ่งจะช่วย แบ่งเบาการจราจรบนถนนพระราม2ได้มาก
ด้าน นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี ทล. กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณการจราจรบนถนนพระราม 2 ถือว่ามากที่สุดในไทย ล่าสุดข้อมูลปลายปี 66 นั้น พบว่าปริมาณการจราจรเฉลี่ย จากดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ มีประมาณ 2.56 แสนคันต่อวัน จากวงแหวนฯ -สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน มีประมาณ 1.3 แสนคนต่อวัน และจาก สมุทรสงคราม-วังมะนาว มีประมาณ 8 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ปริมาณการจราจรบนถนนพระราม 2 มีเพิ่มขึ้นมากถึง 4 แสนคนต่อวัน