“เจ้าท่า” ทุ่มงบฯ 67 กว่า 1,400 ล้านบาท เสริมทรายชายหาดชะอำ

ผู้ชมทั้งหมด 241 

เจ้าท่า” ทุ่มงบฯ 67 กว่า 1,400 ล้านบาท เสริมทรายชายหาดชะอำ ลดปัญหาการกัดเซาะ พลิกฟื้นชายหาดให้สวยงาม หนุนท่องเที่ยว พร้อมเร่งศึกษาออกแบบสร้างท่าเทียบเรือบ้านแหลม

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถายหลังการลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ตรวจเยี่ยมโครงการเสริมทรายชายหาดและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และสำรวจพื้นที่จุดที่มีการขอรับงบประมาณก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านแหลม ณ จังหวัดเพชรบุรี ว่า ที่ผ่านมาได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ชายหาดชะอำเรื่องปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งได้รับการร้องขอจากกลุ่มชาวประมงบริเวณวัดไทรย้อย ให้ดำเนินการปรับปรุงเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง ให้สามารถกำบังคลื่นลมได้ดียิ่งขึ้น เพื่อยกระดับความสะดวกและปลอดภัยต่อการประกอบอาชีพประมงและการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านหลังเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง ซึ่งจากการลงพื้นที่บริเวณชายหาดชะอำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะมากที่สุด พบว่า กรมเจ้าท่า (จท.) ได้ดำเนินโครงการพลิกฟื้นชายหาดท่องเที่ยวในที่ต่าง ๆ ให้มีความสวยงาม เพื่อลดปัญหาการกัดเซาะ และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ

โดยอยู่ระหว่างดำเนินโครงการเสริมทรายชายหาดและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะทางรวม 6.05 กิโลเมตร (กม.)ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,442.87 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วยระยะที่ 1 บริเวณร้านอาหารปลาทู – ถนนโยธาธิการ (กม. 1+500 – กม. 3+200) ระยะทางประมาณ 1.7 กิกม. งบประมาณ 554.94 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ระยะทาง 800 เมตร งบประมาณ 270 ล้านบาท โดยเสริมทรายชายหาดกว้างเฉลี่ย 50 – 80 เมตร ซึ่งได้รับงบประมาณปี 2567 อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และตอนที่ 2 ระยะทาง 900 เมตร งบประมาณ 284.94 ล้านบาท ประกอบด้วย เสริมทรายชายหาดกว้างเฉลี่ย 50 เมตร ก่อสร้างกำแพงหินบริเวณปากคลองบางควาย พร้อมทั้งขุดลอกคลองและปรับปรุงเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งเดิมบริเวณหน้าวัดไทรย้อย และปรับปรุงระบบระบายน้ำ

ระยะที่ 2 (ซอยร่วมจิตร – ลานชมวิวหาดชะอำ) (กม. 6+800 – กม. 9+800) ระยะทางประมาณ 3 กม.งบประมาณ 598.61 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร งบประมาณ 299.305 ล้านบาท โดยเสริมทรายชายหาดกว้างเฉลี่ย 50 เมตร และตอนที่ 2 ระยะทาง 1.5 กม.งบประมาณ 299.305  ล้านบาท โดยเสริมทรายชายหาดกว้างเฉลี่ย 50 เมตร และ ระยะที่ 3 (ลานชมวิวหาดชะอำ – บริเวณร้านอาหารไอ เลิฟ สวีต) (กม. 9+800 – กม. 11+150) ระยะทาง 1.35 กม. งบประมาณ 289.32 ล้านบาท โดยเสริมทรายชายหาดกว้างเฉลี่ย 50 เมตร

นางมนพร กล่าวอีกว่า บริเวณชายหาดชะอำมีการถูกกัดเซาะเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของอำเภอชะอำ ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางมาจำนวนมาก เนื่องจากมีชายหาดและทะเลที่สวยงาม รวมทั้งมีการคมนาคมที่สะดวกใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินโครงการดังกล่าว

สำหรับโครงการเสริมทรายชายหาดชะอำ จะเริ่มดำเนินการภายในปี 2567 โดยปริมาณทรายที่ใช้ในการเสริมทรายทั้ง 3 ระยะ ประมาณ 1,439,000 ลูกบาศก์เมตร ภายหลังโครงการฯ แล้วเสร็จ จะทำให้ชายหาดมีความกว้างเฉลี่ย 50 – 80 เมตร พร้อมแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ฟื้นฟูระบบนิเวศและช่วยบูรณะให้ชายหาดชะอำกลับมาสวยงาม รองรับกิจกรรมสันทนาการบนชายหาด และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ได้มอบให้ จท. ศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกันคลื่น เพื่อหาแนวทางป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน สำหรับโครงการเสริมทรายชายหาดฯ บริเวณชายหาดชะอำ ฝั่งด้านเหนือ ได้สั่งการให้ จท. ประสานหน่วยงานส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดทำข้อมูลเป็นโครงการเร่งด่วนในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในครั้งนี้ เพื่อพิจารณาขอรับการจัดสรรงบประมาณจากงบกลาง เพื่อเร่ง ดำเนินการ นอกจากนี้ยังมอบนโยบายให้ จท. ปรับปรุงและออกแบบภูมิทัศน์ชายหาดให้สวยงามเหมาะกับการทำกิจกรรมทางน้ำและกิจกรรมสันทนาการบนชายหาดสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยใช้ชายหาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี เป็นต้นแบบ

นางมนพร กล่าวด้วยว่า จากการลงพื้นที่ตำบลบ้านแหลมเพื่อรับฟังปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ โดยสมาคมประมงอำเภอบ้านแหลม องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหลม และเทศบาลตำบลบ้านแหลม ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านแหลม เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับขนถ่ายสัตว์น้ำ รวมทั้งรองรับการเทียบท่าของเรือประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน

ทั้งนี้ผ่านมาจท.ได้ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำบ้านแหลม เพื่อให้เรือสามารถเข้าเทียบท่าที่ตำบลบ้านแหลมได้ ทั้งนี้ จากที่ชุมชนขอรับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างท่าเทียบเรือนั้น กระทรวงคมนาคม พร้อมผลักดันโครงการเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน โดยมอบให้ จท.พิจารณาใช้งบเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อศึกษาและออกแบบโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือฯ จากนั้นจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณก่อสร้าง และขอรับการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งท่าเทียบเรือดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกต่อการทำอาชีพประมง รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางและขนส่ง ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถสัญจรได้สะดวกขึ้น และเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป