“เอ็กโก กรุ๊ป” ลุยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนแตะ 30% ในปี 2030 มุ่งเป้าหมายลดปล่อยคาร์บอน  

ผู้ชมทั้งหมด 861 

“กุลิศ” หนุน “เอ็กโก กรุ๊ป” ปรับพอร์ตลงทุนมุ่งสู่พลังงานสะอาดรับเทรนด์โลก ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้าน “เอ็กโก กรุ๊ป” ตั้งเป้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 ขณะที่ระยะกลาง ลุยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนแตะ 30% ในปี 2530 ลั่นจ่อชิงโควตาผลิตไฟพลังงานสะอาดของภาครัฐกว่า 5,000 เมกะวัตต์  

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “EGCO Group Forum 2022: Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ว่า สถานการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทย ปี2565 อยู่ที่ 131.8 ล้านตันคาร์บอน เพิ่มขึ้น 6.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน  โดยภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สูงเท่ากับอยู่ที่ประมาณ 32% หรือกว่า 42 ล้านตันคาร์บอน ขณะที่ภาคขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ อยู่ที่ 30% และภาคอื่นๆ อีก 7% ซึ่งจะเห็นว่า ภาคพลังงานและภาคขนส่ง มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ รวมกันอยู่ที่ 62% ถือเป็นสัดส่วนที่สูง เนื่องจากรถที่ใช้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ 97-98% ยังเป็นเครื่องยนต์สันดาปที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง

ขณะที่ ประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม Cop 26 ประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593(ค.ศ.2050) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHGs Emission) ในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ.2065) เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม IEA มีการประเมินว่า ภายในปี 2050 หาก 10 ประเทศในแถบอาเซียนไม่ดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการใช้พลังงาน ก็จะเกิดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งก๊าซฯ ,น้ำมัน และถ่านหิน ต่อไป และจะไม่บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)ได้

ดังนั้น ประเทศไทย จึงได้จัดทำกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ(National Energy Plan: NEP) ที่คาดว่า จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า เพื่อกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ไม่ต่ำกว่า 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 23-24% ของกำลังการผลิตไฟฟ้า โดยจะไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมปรับการใช้พลังงานในภาคขนส่ง มุ่งส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่รัฐบาลได้มีมาตราการสนับสนุนการซื้อรถ ทำให้ราคารถอีวี ลดลงคันละ 2 แสนบาท และต่อไปก็จะดูเรื่องของแบตเตอรี่เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการลงทุนผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน ซึ่งจะเห็นว่าในปีนี้ ยอดขายรถอีวีของประเทศเติมโตขึ้น 275% จากปีก่อน หรืออยู่ที่กว่า 10,000 คัน สะท้อนให้ว่าประชาชนให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดตามทิศทางของโลก โดยในระยะต่อไปรัฐบาลก็จะเดินหน้าแผนขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมการใช้งานมากขึ้น

ตลอดจน รัฐต้องดูแลเรื่องของการปรับโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้รองรับ 4D1E  เช่น เรื่องของมิเตอร์ไฟฟ้าที่สมาร์ทมากขึ้น จะเข้ามารองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ,การพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวและยืดหยุ่น รวมถึง จะเร่งโปรโมท การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนให้เกิดขึ้นตามแผน ซึ่งในอนาคตจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์เข้าระบบถึง 6,000 เมกะวัตต์ใน 20 ปีข้างหน้า พลังงานลม อีก 1,500 เมกะวัตต์ ขยะ อีก 600 เมกะวัตต์ และไบโอแก๊สและไบโอแมส อีกประมาณ 800 เมกะวัตต์ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ล่าสุด การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2565 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้า สีเขียว (Utility Green Tariff) ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด

“จะเห็นว่า แนวทางที่รัฐทำทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเดินไปสู่ Carbon Neutral Pathway ขณะที่ เอ็กโก กรุ๊ป เองก็จะมุ่งเรื่องของกรีนไฮโดรเจน ที่เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น”

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวในการเสวนา Carbon Neutral Roadmap โดยระบุว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้า 30 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ เอ็กโก กรุ๊ป ก่อตั้งบริษัท เมื่อราวปี 2535 ได้มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าตามนโยบายของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันนโยบาย 4D1E ก็ถือเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานต้องปรับตัว เอ็กโก กรุ๊ป จึงได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้วิสัยทัศน์ Cleaner Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth โดยวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น จากปัจจุบัน มีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อยู่ที่ 1,424 เมกะวัตต์ หรือ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24% ใน 7 ประเทศ จากกำลังผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัท อยู่ที่ 6,079 เมกะวัตต์ ใน 8 ประเทศ

“ในระยะยาว บริษัท ตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 แต่ในระยะสั้นการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลยังจำเป็นต่อความมั่นคงทางพลังงาน ฉะนั้นในระยะกลาง บริษัท ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอนลง 10% ในปี 2030 โดยจะเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้อยู่ที่ 30% ในปี2030

สำหรับแนวทางขยายพอร์ตฟอลิโอเพิ่มสัดส่วนการลงทุนพลังงานสะอาดนั้น บริษัท ได้ดำเนินการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟ้ฟาจากพลังงานหมุนเวียน โดยจะเห็นว่าที่ผ่านมา ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท “เอเพ็กซ์ คลีนเอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้งส์” ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีพอร์ตผลิตไฟฟ้าพลังงานโซลาร์ฯและลมกว่า 40,000 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกันในส่วนของประเทศ ยังมีโอกาสที่จะขยายการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หลังจากภาครัฐเตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวมกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่ง เอ็กโก กรุ๊ป ก็สนในจเข้าร่วมการประมูลดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ยังมีความสำคัญ แต่เอ็กโก กรุ๊ป จะมุ่งไปยังฟอสซิลที่มีความสะอาด โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะเห็นว่า บริษัทได้เข้าลงทุนโรงไฟฟ้า ลินเดนฯ ในสหรัฐ ที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯควบคู่กับเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้ ก็จะทำให้โรงไฟฟ้าก๊าซฯ มีความสะอาดมากขึ้น

ขณะที่ในประเทศไทย โรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP ก็ได้ศึกษาโครงการต้นแบบใช้แอมโมเนีย ราว 20% เข้ามาผสมผลิตไฟฟ้าก็จะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินลดการปล่อยคาร์บอนฯลงได้

นอกจากนี้ ก็ยังศึกษาเรื่องของเทคโนโลยี CCUS ,แบตเตอรี่ และไฮโดรเจน รวมถึง การลงทุนเซลล์เชื้อเพลิง(Fuel Cell) และการผลิตไฟฟ้าจาพเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กที่สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าในระบบที่ต่ำกว่า 300 เมกะวัตต์ เป็นต้น