ผู้ชมทั้งหมด 43
กพท. Kick Off ดันไทยเป็นฮับการบินภูมิภาค หนุนตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO และ Air Cargo สัญชาติไทย พร้อมหนุนทำการบินแบบ Private Jet ด้าน AOT เตรียมจ้างที่ปรึกษาทบทวนแผนแม่บทพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 68 พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. ในฐานะประธานคณะทำงานบูรณาการการกำหนดยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) ที่ได้รับแต่งตั้งจากประธานกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุม Kick Off นโยบาย Aviation Hub ที่จัดขึ้นตามนโยบายของคณะกรรมการกำกับฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบิน ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และผู้ประกอบการสายการบิน ว่า จากการที่ประเทศไทยสามารถปรับระดับมาตรฐานการบินของไทย จาก Category 2 (CAT2) ยกระดับกลับไปสู่ Category 1 (CAT1) เป็นกลุ่มประเทศที่มีมาตรฐานการบินอยู่ในระดับมาตรฐานสากลนั้น ทำให้ CAAT และภาคส่วนการบินมั่นใจที่จะขับเคลื่อนนโยบายศูนย์กลางการบินของภูมิภาคของประเทศไทย โดยมีองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน MRO และศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินครบวงจร (Training Center) พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) สัญชาติไทย และส่งเสริมกิจกรรมการทำการบินทั่วไป (General Aviation)
โดยศูนย์ MRO) นั้น คณะทำงานฯ Aviation Hub ได้เตรียมจัดทำ Master Plan เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีเอกภาพ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยจะส่งเสริมให้ศูนย์ MRO ของไทย ทั้งที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อู่ตะเภา หรือภูเก็ต เป็นหมุดหมายหลักของสายการบินทั่วโลกที่มาแวะพักและซ่อมบำรุงที่ไทย



ขณะที่การขนส่งสินค้น( Air Cargo) นั้นจะเร่งส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการไทยมากขึ้น โดยลดอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ (Barrier to Entry) เช่น การเสนอการปรับปรุงกฎระเบียบในเรื่องของสัดส่วนผู้ถือหุ้นชาวไทยของผู้ประกอบการสายการบินที่ให้บริการการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้มีโอกาสในการรวบรวมทุนค่อย ๆ เพิ่มสัดส่วนเงินทุนและเติบโตเป็นสายการบินขนส่งสินค้าสัญชาติไทยอย่างสมบูรณ์ และเตรียมประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าในเขตปลอดอากร (Free Zone)
นอกจากนี้จะสนับสนุนให้มีศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน( Aviation Training Centre) ซึ่งได้เตรียมจัดทำแผนการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินครบวงจร ณ ท่าอากาศยานที่มีศักยภาพ เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต เป็นต้น
โดยมีการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากด้านการบินพลเรือนด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาตรฐานระดับโลกมาใช้ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเติบโตด้านอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย องค์ประกอบของศูนย์ฝึกอบรมฯ เช่น ศูนย์ปฏิบัติการฝึกบินจำลอง สำหรับวิศวกรรมการบิน ศูนย์ฝึกช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์ฝึกปฏิบัติการควบคุมการจราจรทางการอากาศจำลองแบบ 360 องศา ศูนย์ฝึกนายช่างภาคพื้นดิน เป็นต้น ซึ่ง CAAT ตั้งเป้าหมายให้มีการจัดทำแผนการจัดสร้างศูนย์ฝึกภายในปี 2569 รวมถึงการจัดทำแนวทางพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก โครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำการบินสำหรับการบินทั่วไป (General Aviation)
อย่างไรก็ตามเบื้องต้น CAAT มีแนวทางในการสนับสนุนนโยบาย Aviation Hub เช่น การส่งเสริมการทำการบินส่วนบุคคล (Private Jet) โดยเร่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยานและอำนวยความสะดวกในการทำการบินประเภทการบินส่วนบุคคล (Private jet) เพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายจ่ายสูง (Luxury Tourism) ทบทวนหลักเกณฑ์และข้อกำหนดด้านอายุอากาศยานที่ปฏิบัติการบิน ตลอดจนการส่งเสริมการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อการขนส่งในเขตเมือง การพัฒนากฎระเบียบและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ Sea plane ในประเทศไทย การนำระบบการดำเนินงานแบบเร่งด่วน (Fast track) มาใช้ในการออกใบอนุญาต เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ
“CAAT มั่นใจในความพร้อมและศักยภาพของอุตสาหกรรมการบินของไทย พร้อมเดินหน้าผลักดันนโยบาย Aviation Hub อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอย่างแท้จริง โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน บูรณาการทุกกลไก และลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในทุกด้าน เพื่อวางรากฐานที่แข็งแกร่งและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการบินไทย” พลอากาศเอกมนัท กล่าว

ด้าน น.ส.ปวีณา จริยฐิติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) กล่าวว่า AOT อยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาทบทวนแผนแม่บทพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อสนับสนุนนโยบาย Aviation Hub โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษานำเรื่อง นโยบาย Aviation Hub เข้าไปเป้นส่วนหนึ่งในแผนฯด้วย ซึ่งคาดว่าแผนฯฉบับใหม่นี้น่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกันยายนนี้ จากนั้นจะนำเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความเห็นก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป