ผู้ชมทั้งหมด 59
การบินไทย ไตรมาส 1 โกยกำไร 9.3 พันล้าน โต 306% สภาพคล่องสูง กระแสเงินสดล้นมือ 1.24 แสนล้าน พร้อมออกจากการฟื้นฟูกิจการ กลับเข้าซื้อขายในตลาดฯ ปลายก.ค.-ต้นส.ค.68 “ปิยสวัสดิ์” ย้ำบอร์ดบินไทยชุดใหม่ต้องอิสระปลอดการเมืองแทรกแซง

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า การแถลงข่าวผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 นี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายของคณะผู้บริหารแผนฯโดยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 51,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 45,955 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.3% มีกำไรสุทธิ 9,839 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 306% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA หลักหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 12,728 ล้านบาท มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เท่ากับ 83.3% ใกล้เคียงกับปีก่อน
ทั้งนี้รายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องมาจากปริมาณความต้องการการเดินทางของผู้โดยสารที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทฯ ได้มีการขยายฝูงบิน เพิ่มความถี่เที่ยวบิน ส่งผลให้ปริมาณการผลิต (Available Seat Kilometers-ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21.1% โดยมีปริมาณขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Seat Kilometers-RPK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.8% จากจำนวนผู้โดยสารรวม 4.33 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.6%
บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 37,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3,084 ล้านบาท (8.8%) จากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและการให้บริการที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะลดลงประมาณ 1.7% จากปีก่อน
อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานไว้ได้ในระดับที่น่าพอใจ โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 13,661 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2,586 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไร (EBIT Margin) 26.5%
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าในการนำการบินไทยออกจากการฟื้นฟูกิจการนั้น หลังจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 ได้มีมติอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ และได้ดำเนินการจดทะเบียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกรรมการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ส่งผลให้บริษัททำตามแผนฟื้นฟูกิจการครบถ้วนแล้ว จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเมื่อ 28 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล โดยศาลล้มละลายกลางกำหนดนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 4 เมษายน 2568 และเมื่อคำสั่งศาลออกมาเมื่อไหร่หน้าที่ของคณะผู้บริหารแผนก็จะยุติลง และเข้าสู่ขั้นตอนของ คณะกรรมการชุดใหม่ รวมถึงการกลับเข้าสู่การซื้อขายหุ้นการบินไทยในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง คาดว่าน่าจะประมาณปลายเดือนกรกฎาคม หรือต้นเดือนสิงหาคม 2568
“เมื่ออำนาจของคณะผู้บริหารแผนสิ้นสุดลง ก็เป็นหน้าที่ของบอร์ดการบินไทยชุดใหม่ ซึ่งต้องดูว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ส่วนตัวอยากเห็นการทำงานของบอร์ดที่เป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้การแทรกแซงทางการเมือง และหากผู้บริหารมีความรู้ความสามารถก็จะนำพาการบินไทยให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ในอดีตจะเห็นว่าผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเข้ามาเป็นบอร์ดการบินไทยมักจะเข้ามาแล้วไปบริหารเอง เพราะคิดว่าตัวเองรู้ดี จุดนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความชิบหาย เพราะกรรมการทุกคนคิดว่ารู้เรื่องธุรกิจการบินดี เคยนั่งเครื่องบิน จะต้องทำแบบนั้น แบบนี้ ทำให้ผู้บริหารการบินไทยเลิกคิด เลิกให้ความเห็น แต่ผมมั่นใจว่า ความเห็นของบอร์ดการบินไทยทั้ง 10 คน ก็ไม่รอบคอบสู้ฝ่ายบริหารการบินไทยที่อยู่ในธุรกิจมาตลอด ดังนั้นเมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องให้เกียรติผู้บริหารการบินไทย ฟังผู้บริหาร และเลือกคนที่ดีที่สุดมาบริหารบริษัทฯให้แข็งแรงต่อไป” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

ด้าน นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทยฯ กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์ของ อุตสาหกรรมการบินจะไม่สามารถควบคุมได้ แต่ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาที่การบินไทยเข้าสู่กระบวนการของแผนฟื้นฟูกิจการฯ ได้เตรียมพร้อม ปรับตัวตามสถานการณ์ ทั้งเรื่องบุคลากร โครงสร้างต้นทุนต่างๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำธุรกิจการบินคือ การมีสถานะกระแสเงินสดในมือที่มั่นคง แม้จะมีเครดิตไลน์ก็ตาม เพราะหากเกิดปัญหาสิ่งที่จะช่วยได้คือกระแสเงินสดในมือ ซึ่งในปัจจุบันการบินไทยมีสภาพคล่องกระแสเงินสดกว่า 124,000 ล้านบาท ต่างกับช่วงที่ในอยู่แผนฟื้นฟูที่มีเพียง 30,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามมองว่าปัจจัยเสี่ยงที่สุดที่จะเกิดหลังจากนี้ คือ ตลาดทุน เพราะเมื่อหุ้นการบินกลับเข้าซื้อขายในตลาดฯ คาดว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยยังมีความกลัว และกังวลว่า การบินไทยจะกลับไปเหมือนเดิมก่อนที่จะเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการฯหรือไม่ ซึ่่งในส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับบอร์ดการบินไทยชุดใหม่ที่จะเข้ามาสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ก็ไม่ส่มารถการันตได้ว่าผลการดำเนินงานจะเป็นบวกตลอดไป แต่ตนจะทำทุกอย่างให้การบินไทยมีความแข็งแกร่งทางการเงิน และ ปรับปรุงคุณภาพการบริการ ให้มีความสะดวก ทันสมัย เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนเครื่องบินที่ใช้ทำการนั้น ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินทั้งสิ้น 78 ลำ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันจองปีก่อน 5ลำ และภายในสิ้นปี 2568 จะมีเพิ่มเป็น 80 ลำ ซึ่งกำลังทยอยรับมอบเข้ามา ขณะที่แผนในปี 2569-2570 จะมีเครื่องบินที่เช่าเข้ามาประจำฝูงอีกเกือบ 20 ลำ ประกอบด้วย B787 จำนวน 3-4 ลำ และ A321 Neo จำนวน 15 ลำ จากแผนที่ต้องมี 32 ลำ
นายชาย กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ประกาศปิดจุดเข้า-ออก น่านฟ้าของประเทศอินเดียติดกับประเทศปากีสถาน นั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารการบินไทยได้ประกาศหยุดบินชั่วคราวในเส้นทาง ไป-กลับกรุงเทพฯ – ปากีสถาน (ลาฮอร์, อิสลามาบัด, การาจี) และมีการประเมินสถานการณ์ทุกวัน รวมถึงดูสายการบินอื่นด้วยว่ายังปฏิบัติการอยู่หรือไม่ ทั้งนี้สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะมีผลกระทบต่อเที่ยวบินที่ไปกลับเส้นทางยุโรปทำให้ต้องบินเส้นทางที่ต้องใช้ระยะเวลาลาการเดินทางเพิ่มขึ้นประมาณ 20 ถึง 30 นาที ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมาในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ก็ไม่ได้มากนัก
ต่อข้อถามถึงนโยบายภาษีของสหรัฐมีผลต่อการจัดหาเครื่องของการบินไทยหรือไม่ นายชาย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบ เนื่องจากเครื่องบินที่สั่งจองไว้ยังไม่ได้ถึงเวลานำเข้ามา ส่วนการชะลอการจัดหาเครื่องบินเป็นการพิจารณาการนำเครื่องบินเช่าเข้ามาเพิ่มเติมในช่วงสั้น ซึ่งในช่วงการพิจารณาเครื่องบินฝูงนี้ยังไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว พอมีเรื่องความไม่แน่นอนเกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจึงหยุดการพิจารณาไปก่อนและเมื่อมีความชัดเจนจะกลับมาพิจารณาอีกครั้ง