ผู้ชมทั้งหมด 94
คมนาคม-กทม. จ่อปรับเส้นทางเดินรถเมล์ใหม่ 30 เส้นเป็น Feeder เชื่อมรถไฟฟ้าไรร้อยต่อ “สุรพงษ์” ระบุ เป็นโมเดลให้เมืองใหญ่ขยายผลประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่กระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการความร่วมมือยกระดับระบบรถโดยสารสาธารณะขนส่งมวลชนกรุงเทพ เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ (Feeder) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนว่า ที่ประชุมได้หารือแนวทางการบริหารจัดการด้านการจราจร ในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเวลานี้กรุงเทพฯกำลังมีการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตประชาชน
ทั้งนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย และรถโดยสารสาธารณะ (รถเมล์) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่จะมีการจัดหาใหม่เป็นรถอีวี จำนวน 3,000 คัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับรูปแบบและเส้นทางเดินรถเมล์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เบื้องต้นสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้สรุปผลศึกษาเส้นทางใหม่แล้วจำนวน 111 เส้นทาง ในจำนวนนี้มีเส้นทางใน กทม.จำนวน 30 เส้นทาง ที่เน้นเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทั้งสายสีชมพูและสายสีเหลือง ส่วนที่เหลืออยู่ในเขตนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในสิ้นปีนี้


นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ต้องมีการกำหนดจุดที่ตั้งป้ายรถโดยสารประจำทางให้สอดคล้องกับสถานีรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ กทม. อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีป้ายจอด 5,192 ป้าย เบื้องต้นจะมีการปรับป้ายรถรถเมล์ในระยะ 96 ตารางกิโลเมตรบนถนนรัชดาภิเษกก่อน ซึ่งกระทรวงคมนาคมและกทม.จะร่วมกันบริหารจัดการ ผ่านคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดที่หยุดรถโดยสารในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นอนุกรรมการ ทั้งนี้ การบูรณาการร่วมกันดังกล่าวถือเป็นการนำร่องไว้เป็น Model สำหรับเมืองใหญ่ในการนำผลสำเร็จที่ได้จากการดำเนินงานไปประยุกต์ใช้กับเมืองใหญ่อื่น ๆ ต่อไป
นายชัชชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับวินรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซด์) รับจ้าง ซึ่งปัจจุบันมีวินมอเตอร์ไซด์ประมาณ 5,000 วินและตั้งอยู่บนทางเท้าประมาณ 3,000 วัน โดยต้องปรับปรุงจำนวนที่ไม่พียงพอและผู้ขับขี่ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ซึ่งต้องกำกับดูแลร่วมกับกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อย่างเข้มข้นให้มีคุณภาพ และตอบโจทย์ประชาชน
ขณะที่รถเมล์นั้น เป็น Feeder สำคัญที่พาคนเชื่อมต่อรถไฟฟ้า แต่ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องป้ายรถเมล์ ที่ส่วนหนึ่งเป็นของกทม. อีกส่วนเป็นของกรมทางหลวง (ทล.) ต้องหารือเรื่องตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อเสริมกับรถไฟฟ้าอย่างไร้รอยต่อ และนำเทคโนโลยีมาช้แจ้งเตือนการมาถึงของรถเมล์ เพื่อให้ประชาชนวางแผนการเดินทางได้อย่างสะดวก และเชื่อมโยงระบบ GPS มาที่แพลตฟอร์ม ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดทำแอพพลิเคชั่นรองรับแล้ว ส่วนรถเมล์อีวีใหม่นั้นจะช่วยเรื่องการลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเป็น Feeder ช่วยให้ประชาชนเดินทางสะดวกขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการจัดระเบียบต่างๆ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสุขุมวิทโมเดล ที่ต้องมีการบูรณาการหลายหน่วยงาน ขบ.จะเป็นหน่วยงานสำคัญในการดูแลรถเกซี่ สามล้อ การจอดการไม่เปิดมิเตอร์ ขยายจุดไปรอบวัดพระแก้ว วัดโพธ์ จึงต้องดูเรื่องการควบคุมและดูแลการบริการให้ดีที่สุดด้วย
ขณะเดียวกันในส่วนของการบริหารสัญญาเช่าพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรนั้นยอมรับว่า กทม.ไม่ได้เก่งหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารตลาด จึงจะหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.) ว่าหากจะส่งกลับคืนให้รฟท.ไปบริหาร จะทำอย่างไรได้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน เพราะตลาดนัดจตุจักรเป็นแหล่งสำคัญที่มีนักท่องเที่ยว และมีเศรษฐกิจที่สำคัญของกทม.
“ในกรุงเทพฯรถเมล์มีความสำคัญไม่น้อยกว่ารถฟ้า ทั้ง 2 ระบบต้องเสริมกันไม่ใช่แข้งกัน หากรถไฟฟ้าดีแต่รถเมล์ยังไม่กระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ก็ยากที่คนจะเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าเพราะไม่สะดวก ดังนั้นรถเมล์จึงมีบทบาทสำคัญในการเดินทางของประชาชนให้สะดวกสบายขึ้น และในอนาคตรถไฟฟ้าสายใหม่ เช่น สีส้มตะวันตก หรือสายสีม่วงใต้ หากมีจุดจอดให้รถสาธารณะได้ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาจราจรได้ดี” นายชัชชาติ กล่าว