ผู้ชมทั้งหมด 130
ครม. เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ของสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ แปลง B – 17- 01 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย ชี้ช่วยรักษาระดับการผลิตตาม DCQ ที่อัตรา 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้จนถึงปี 74
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ ประกอบด้วย 1.เห็นชอบในร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ของสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (SA GSA 4) แปลง B – 17 – 01 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซียเพื่อให้ออกเป็นร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ของสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแปลง B – 17 – 01 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย
2.เห็นชอบให้องค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย (องค์กรร่วมฯ) โดยหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารองค์กรร่วมฯ ลงนามในร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ของสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ แปลง B – 17 – 01 กับผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติ และรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารองค์กรร่วมฯ ลงนามในฐานะพยาน เมื่อร่างสัญญาดังกล่าวได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การซื้อขายก๊าซธรรมชาติแปลง B – 17 – 01 เกิดขึ้นจากการที่องค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย และบริษัทผู้ประกอบการ [บริษัท PETRONAS Carigali (JDA) Sdn. Bhd. (PC JDA) และบริษัท PTTEP International Limited (PTTEPI) ในฐานะผู้ขายก๊าซธรรมชาติได้มีการทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแปลงดังกล่าวกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท เปโตรนาส ในฐานะกลุ่มผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติ เพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในพื้นที่พัฒนาร่วมฯ ซึ่งที่ผ่านมาสัญญาดังกล่าวได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม รวม 3 ฉบับ เพื่อ (1) เลื่อนกำหนดการส่งมอบก๊าซธรรมชาติ (2) เพิ่มประเด็นเกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหายและคุ้มครองกลุ่มผู้ขายจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุปกรณ์ในการผลิตที่กลุ่มผู้ซื้อติดตั้งเพิ่มเติม และ (3) กำหนดปริมาณซื้อขายก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่ม อย่างไรก็ดี โดยที่พื้นที่แปลงดังกล่าวได้มีการสำรวจและค้นพบก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะสามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์เพิ่มเติม ซึ่งกลุ่มผู้ขายก๊าซธรรมชาติและผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติมีความประสงค์ที่จะซื้อขายก๊าซธรรมชาติส่วนที่เพิ่มเติมนี้ ปริมาณก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่ม 3 (Additional Volume 3)] แยกออกจากปริมาณส่งมอบตามสัญญาที่มีอยู่เดิม จึงได้ตกลงร่วมกันในการจัดทำร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 ของสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแปลง B – 17- 01
2. กระทรวงพลังงานแจ้งว่า การจัดทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 จะก่อให้เกิด ประโยชน์ เช่น (1) การผลิตก๊าซธรรมชาติภายใต้สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นการรองรับการซื้อขาย ก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมต่อจากสัญญาเดิมที่มีในปัจจุบัน โดยจะทำให้ภาพรวมของแปลง B – 17 – 01 สามารถรักษาระดับการผลิตตาม DCQ ที่อัตรา 280 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ได้จนถึงสิ้นปี 2574 ก่อนที่อัตราการผลิตจะลดระดับลงเหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จนถึงสิ้นปี 2576 และลดระดับลงเหลือ 110 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จนถึงสิ้นปี 2581
ทั้งนี้ การคาดการณ์ปริมาณการส่งขายก๊าซธรรมชาติภายใต้สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 มีประมาณทั้งสิ้น 680 พันล้านลูกบาศก์ฟุต (2) ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการได้รับค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งกำไรของรัฐเพิ่มขึ้นจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมฯ โดยคาดการณ์ว่าการขายก๊าซธรรมชาติภายใต้สัญญานี้ องค์กรร่วมฯ จะมีรายได้ในส่วนที่เป็น ค่าภาคหลวงประมาณ 546 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่วนแบ่งกำไรของรัฐประมาณ 1,322 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะถูกนำส่งให้แก่รัฐบาลทั้งสองประเทศต่อไป